การดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน เป็นการดูแลที่ต้องอาศัยทั้งการดูแลและเอาใจใส่เป็นพิเศษรวมถึงต้องมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยอีกด้วย และที่สำคัญเลยต้องเข้าใจถึงการใช้งานเครื่องช่วยหายใจที่บ้าน ซึ่งในผู้ป่วยบางรายก็มีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมาก ซึ่งในบทความนี้ Nk Sleepcare จะมาให้ข้อมูลสำคัญเพื่อเป็นอีกหนึ่งความรู้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
รู้จักเครื่องช่วยหายใจ
เครื่องช่วยหายใจ มีหลักการทำงานที่เลียนแบบการทำงานของระบบการหายใจของมนุษย์ กล่าวคือมีการปล่อยก๊าซเข้าไปในปอดเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซภายในปอด และปล่อยก๊าซที่แลกเปลี่ยนแล้วให้ออกสู่บรรยากาศภายนอก
ประเภทของเครื่องช่วยหายใจ
เครื่องช่วยหายใจแบ่งออกตามวงจรการสิ้นสุดของการหายใจ (Cycle) ได้เป็น 4 ประเภท
1) Volume Cycle Ventilator
เป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตร เป็นเครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ มักใช้ในโรงพยาบาล สามารถแสดงกราฟการหายใจต่างๆ ได้ โดยใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

2) Pressure Cycle Ventilator
เป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยแรงดันอากาศ มีขนาดเล็กกว่าแบบ Volume Cycle Ventilator แต่มีฟังก์ชั่นการทำงานน้อยกว่า จึงมักนิยมใช้ Pressure Cycle Ventilator กับผู้ป่วยที่กลับมารักษาตัวที่บ้าน
Pressure Cycle Ventilator แบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่
- เครื่องช่วยหายใจ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เคลื่อนย้ายสะดวก การทำงานของเครื่องสอดคล้องกับปอดของคนทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนเพียงพอ ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเล็กน้อยถึงรุนแรง
- เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสองระดับ BiPAP (Bi-level Positive Airway Pressure) เป็นเครื่องช่วยหายใจแบบเน้นใช้งานที่บ้าน สามารถตั้งให้ระดับแรงดันอากาศในจังหวะหายใจเข้าและหายใจออกมีค่าแตกต่างกัน ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง หรือผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เป็นต้น

3) Time Cycle Ventilator
เป็นเครื่องช่วยหายใจที่ใช้ระยะเวลาในการหายใจเข้าเป็นตัวสิ้นสุดระยะเวลา และเมื่อผู้ป่วยหายใจเข้าครบตามระยะเวลาที่ตั้งไว้แล้วก็จะถือเป็นการสิ้นสุดการหายใจเข้าและเปลี่ยนเป็นหายใจออกทันที
4) Dual Control Ventilator
คือเครื่องช่วยหายใจที่ประกอบด้วย Pressure Control และ Volume Control ร่วมกัน ซึ่งความดันในการหายใจแต่ละครั้งจะปรับเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ
ทำไมต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน
การใช้เครื่องช่วยหายใจจะช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติในกรณีที่ได้รับยาสลบจากการผ่าตัด, กรณีที่มีอาการป่วยรุนแรง หรืออุบัติเหตุอันส่งผลต่อการหายใจ
หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยมีอาการในระดับไม่รุนแรง หรือมีอาการคงที่หรือดีขึ้นแล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยกลับมารักษาตัวที่บ้าน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องช่วยหายใจตัวใหญ่และพักในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน
ส่วนเครื่องหายใจที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อหรือเช่าเพื่อนำมาใช้ที่บ้านมักจะเป็นเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ มีการทำงานที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับเครื่องตัวใหญ่ตามโรงพยาบาล และที่นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่คือเครื่องช่วยหายใจประเภทแรงดัน 2 ระดับ (BiPAP) โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำการตั้งค่าหรือโหมดการทำงานที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยก่อนที่จะส่งตัวออกจากโรงพยาบาลมารักษาตัวต่อที่บ้าน
อุปกรณ์ประกอบในการใช้เครื่องช่วยหายใจส่วนใหญ่มีอะไรบ้าง
- เครื่องผลิตออกซิเจน
- เครื่องพ่นยา
- เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์ออกซิเจนในเลือด
- เครื่องช่วยหายใจแบบบีบมือ (Ambu bag)
วิธีดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น
- ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อน-หลังดูแลผู้ป่วย
- จัดท่าให้ผู้ป่วยได้หายใจอย่างสะดวก รวมถึงเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วยทุก 1 – 2 ชั่วโมง
- กรณีผู้ป่วยเจาะคอ ต้องดูแลท่อเจาะคอให้อยู่กับที่ หมั่นเช็กความสะอาด และดูว่าไม่มีเสมหะอุดตันอยู่เสมอ
- ตรวจสอบรอยต่อระหว่างเครื่อง รวมถึงตัวผู้ป่วยให้แน่น ไม่หลุดง่าย
- สังเกตอาการว่าได้รับออกซิเจนเพียงพอหรือไม่