การนอนหลับ นอกจากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของร่างกายแล้ว การนอนหลับก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมองอีกด้วย ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึง การนอนหลับกับสมอง ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง มาดูกันครับ
การนอนหลับ เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการและควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ในความเป็นจริงและทางปฏิบัติแล้วนั้นก็ยังมีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ละเลย ไม่ใส่ใจมากเท่าที่ควร ด้วยอาจจะคิดว่าอดนอนนิดหน่อยคงไม่เป็นไร ค่อยนอนชดเชยเอาทีหลังก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด อีกทั้งการอดหลับอดนอนยังส่งผลเสียต่อร่างกายและสมองซึ่งมีความสัมพันธ์กับการนอนหลับโดยตรงอีกด้วย
สมองส่วนใดบ้างมีความสัมพันธ์กับการนอนหลับ
สมองส่วนต่างๆ ล้วนมีหน้าที่ควบคุมการทำงานอวัยวะและระบบต่างๆ แตกต่างกันออกไป โดยสมองส่วนที่มีความสัมพันธ์กับการนอนหลับ ได้แก่
1. สมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหน้า (Forebrain) ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ โดยจะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การอัตราเต้นของหัวใจ ความดันเลือดและความต้องการพื้นฐานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร การนอนหลับพักผ่อน รวมถึงการสร้างและควบคุมฮอร์โมนต่างๆ
2. ก้านสมอง (Brain Stem) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ สมองส่วนกลาง (Midbrain), พอนส์ (Pons) และ เมดัลลาออบลองกาตา (Medulla oblongata) ก้านสมองจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการนอนหลับ ความรู้สึกตื่นตัว หรือความมีสติสัมปชัญญะ
หากนอนหลับไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อสมองอย่างไรบ้าง
1. ความจำไม่ดี สามารถสังเกตได้ว่าวันไหนก็ตามที่เราอดนอน สมองจะไม่ค่อยแล่น คิดอะไรไม่ค่อยออก หลงๆลืมๆ มักใช้เวลานานกว่าปกติในการทำอะไรก็ตาม ยิ่งช่วงสอบหรือช่วงที่ทำโอทีนานๆ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในเรื่องการจดจำสิ่งต่างๆ ของเรา มีความเปลี่ยนแปลงไปมากและแย่ลง แตกต่างกับตอนที่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
2. อารมณ์แปรปรวน เคยไหมที่นอนหลับไปไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็ต้องตื่นขึ้นมาทั้งๆ ที่ยังนอนไม่เต็มอิ่ม ยังอยากนอนต่ออยู่แต่ก็ทำไม่ได้ ส่งผลให้วันนั้นมีอาการง่วงซึมตลอดวัน มีอะไรกวนใจนิดหน่อยก็ทำให้อารมณ์เสีย หงุดหงิดและโมโหได้ง่ายมากกว่าปกติ
3. มีปัญหาด้านสุขภาพ แน่นอนว่าเมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนไม่พอสะสม ก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัววิงเวียนศีรษะ รู้สึกหนักหัว หรืออาจลามไปถึงการรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นน่าเบื่อ ไม่มีความสุขได้