การใช้ท่อช่วยหายใจด้วยการเจาะคอ (Tracheostomy)

การเจาะคอ (Tracheostomy)

การเจาะคอ (Tracheostomy) คือการเปิดรูบริเวณหน้าลำคอ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการหายใจสามารถหายใจได้สะดวกมากขึ้น

วิธีการเจาะคอ แพทย์จะทำการผ่าเปิดผิวหนังบริเวณด้านหน้าลำคอ เพื่อนำท่อหลอดลมคอ หรือท่อเจาะคอ (Tracheostomy tube) สอดเข้าไปในช่องคอผ่านหลอดลมคอ (Trachea) ของผู้ป่วย (รูปที่ 1) เพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าสู่หลอดลมและปอดของผู้ป่วยได้

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องหายใจผ่านทางช่องจมูกและลำคอส่วนบนเหมือนในสภาวะปกติ นอกจากนี้แล้ว การเจาะคอยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถไอเอาเสมหะออกจากหลอดลมได้ หรือเพื่อให้ผู้ดูแลสามารถดูดเอาเสมหะออกจากหลอดลมได้อีกด้วย

ภาพแสดงการเจาะคอ
ภาพแสดงการเจาะคอ (รูปภาพประกอบจาก rcot.org)

ท่อเจาะคอมีกี่แบบและมีลักษณะอย่างไร

ท่อเจาะคอ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ (รูปที่ 2)

  1. แบบพลาสติก
  2. แบบโลหะ

ท่อเจาะคอ มีลักษณะเป็นท่อโค้ง ประกอบด้วยท่อ 2 ชั้น ได้แก่ (รูปที่ 2)

  1. ท่อชั้นนอก (Outer tube)
  2. ท่อชั้นใน (Inner tube)

ท่อทั้งสองชั้นจะสวมซ้อนกันอยู่ สามารถถอดแยกออกจากกันเพื่อล้างทำความสะอาดได้ เนื่องจากผู้ป่วยเจาะคอจะมีเสมหะออกมา ดังนั้นเราจึงต้องทำการล้างเสมหะออกอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการอุดตันของเสมหะ โดยเฉพาะเมื่อต้องใส่ท่อเจาะคอเป็นระยะเวลานานๆ

ชนิดของท่อเจาะคอ
ชนิดของท่อเจาะคอ (รูปภาพประกอบจาก rcot.org)

สาเหตุที่ต้องเจาะคอ

การเจาะคอนั้นเป็นการรักษาชั่วคราว แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องเจาะคอถาวร โดยกลุ่มของผู้ป่วยที่เจาะคอนั้นมีดังนี้

  • มีวัตถุ หรือสิ่งของขนาดใหญ่อุดกั้นทางเดินหายใจ
  • ไม่สามารถหายใจเองได้ หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะเวลานาน
  • มะเร็งบริเวณช่องคอ เช่น มะเร็งกล่องเสียง
  • กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เส้นเสียง หรือกระบังลมเป็นอัมพาต
  • บาดเจ็บบริเวณปาด คอ หรือผนังทรวงอกขั้นรุนแรง
  • ผู้ที่มีการผ่าตัดบริเวณรอบกล่องเสียง คอ รวมถึงกะโหลกศีรษะ
  • ทางเดินหายใจบวมและอุดตันเนื่องจากดูดสารพิษหรือเขม่าควัน
  • มีเสมหะมากบริเวณท่อลมและหลอดลมซึ่งต้องทำการดูดออกบ่อยครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีสติ
  • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในปอดและมีเสมหะคั่งซึ่งไม่สามารถไอเพื่อขับออกได้
  • ไขสันหลังถูกทำลาย
  • ผู้ป่วยที่มีอาการโคม่า ไม่มีสติ หรือเป้นอัมพาต
  • มีปัญหาอื่นๆ เช่น ภาวการณ์หยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง
การเจาะคอ (Tracheostomy)

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกหลังจากการเจาะคออาจเกิดขึ้นได้ทันที และหลังจากการเจาะคอ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้จากท่อเจาะคอด้วย

  • มีการทำลายเส้นประสาทจากการเจาะคอ
  • มีการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ
  • อากาศรั่วอยู่ในบริเวณเยื่อหุ้มปอด(Pneumothorax) หรือใต้ผิวหนังรอบท่อเจาะคอ(Subcutaneous Emphysema)
  • ก้อนเนื้อเยื่อมีความผิดปกติบริเวณทางเดินหายใจ
  • ทางเดินหายใจเหนือต่อท่อเจาะคอเกิดการยุบตัว
  • มีแผลในหลอดลมเนื่องจากการเสียดสีกับท่อ
  • เสมหะแห้งและมีเมือกที่อุดตันท่อเจาะคอ
  • รูปิดตัวลงหลังจากนำท่อเจาะคอออก
การดูแลผู้ป่วยหลังการเจาะคอ

การดูแลผู้ป่วยหลังการเจาะคอ (Tracheostomy Tube Care)

หลังจากการผ่าตัดเจาะคอแล้ว ผู้ป่วยต้องดูแลรักษาตัวเองเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยมีวิธีการดังนี้

  • การพูด การเปล่งเสียงพูดจะไม่เป็นอย่างปกติ โดยสามารถแก้ได้โดยใช้วาล์วในการเปิด-ปิดที่ปลายท่อหลอดลมคอซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเปล่งเสียงได้ตามปกติ
  • การรับประทานอาหาร หลังเจาะคอในระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลืนอาหารได้ปกติ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปผู้ป่วยจะสามารถกลืนได้อย่างปกติเองจากการฝึกกลืนโดยอาจเริ่มจากการจิบน้ำทีละนิด
  • การทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในระยะ 6 สัปดาห์แรกหลังการเจาะคอต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก และต้องดูแลแผลจากการเจาะคอให้สะอาดและแห้ง
  • พยายามดูแลร่างให้อบอุ่นอยู่เสมอ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศเย็นหรือแห้งจัด
  • พยายามอย่าให้มีสิ่งแปลกปลอมหรือฝุ่นเข้าท่อเจาะคอ เช่น ใช้ผ้าปิดไว้เวลาออกนอกบ้าน
  • การทำความสะอาดบริเวณที่เจาะคอ ควรดูแลทำความสะอาดสายดูดเสมหะและท่อหลอดลมคอเป็นประจำ เพื่อลดการสะสมของเสมหะและลดโอกาสในการติดเชื้อ
  • การดูแลทำความสะอาดสายดูดเสมหะ ควรล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากการใช้งานโดยใช้สายเสมหะดูดนำสารละลายไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์จนเสมหะหลุดออกจากท่อชั้นในจนหมด หลังจากนั้นดูดน้ำเกลือเพื่อชะล้างไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ออกจนหมดแล้วเช็ดให้แห้งและห่อด้วยผ้าขนหนู
  • การดูแลทำความสะอาดท่อหลอดลม ล้างมือให้สะอาดก่อนแล้วจึงนำท่อหลอดลมคอชั้นในแช่ลงสารสะลายเพอร์ออกไซด์ แล้วขัดท่อให้สะอาดจนเสมหะหลุดออกจนหมด จากนั้นนำไปล้างด้วยน้ำเกลือจนกว่ากลิ่นของสารสะลายเพอร์ออกไซด์หมดไป แล้วเช็ดท่อให้แห้งและประกอบกลับสู่ที่เดิม

หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์

  1. มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
  2. เกิดการติดเชื้อที่บริเวณแผลเจาะคอ
  3. ท่อเจาะคอชั้นนอก (Outer tube) หลุดออกจากลำคอ
  4. ท่อเจาะคอชั้นใน (Inner tube) หายหรือใส่กลับเข้าไปไม่ได้
  5. มีเลือดออกจากท่อเจาะคอ
  6. ไอหรือมีเสมหะมากผิดปกติ

แนะนำบทความเพิ่มเติม

E-Book เปรียบเทียบ BiPAP รุ่นต่างๆ
New call-to-action

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *