เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) คืออะไร มีกี่แบบ และมีวิธีใช้งานอย่างไร?

เครื่องช่วยหายใจคืออะไร

เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) คืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้เอง หรือหายใจได้ไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพ หรือหายใจไม่สะดวก สามารถกลับมาหายใจได้เป็นปกติอีกครั้ง

เครื่องช่วยหายใจมีกี่แบบ?

1) เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันบวกต่อเนื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure)

เครื่องช่วยหายใจ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) คือ เครื่องช่วยหายใจประเภทควมคุมด้วยแรงดันประเภทหนึ่ง ที่ใช้รักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) โดยเครื่อง CPAP  สามารถรักษาอาการนอนกรนได้ทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง (Moderate to Severe OSA)

ข้อดีของเครื่องช่วยหายใจประเภทนี้คือ ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย มีขั้นตอนการใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน และที่สำคัญเลยคือสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก

2) เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสองระดับ BiPAP (Bi-level Positive Airway Pressure)

เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสองระดับ BiPAP (Bi-level Positive Airway Pressure) คือ เครื่องช่วยหายใจประเภทควมคุมด้วยแรงดันประเภทหนึ่ง ที่สามารถตั้งให้ระดับแรงดันอากาศในจังหวะหายใจเข้าที่เรียกว่า IPAP (Inspiratory Positive Airway Pressure) และระดับแรงดันอากาศในจังหวะหายใจออกที่เรียกว่า EPAP (Expiratory Positive Airway Pressure) มีค่าที่แตกต่างกันได้ โดยจะตั้งให้ค่าแรงดัน IPAP สูงกว่า EPAP เสมอ นิยมใช้ในผู้ป่วยดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง
  • ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่ยังสามารถหายใจด้วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น
    • ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
    • ผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง (Acute Exacerbation of COPD)
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด (Hypercapnic)
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องก๊าซออกซิเจนในเลือด (Hypoxic Respiratory Failure
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำท่วมปอดจากหัวใจทำงานล้มเหลว (Cardiogenic Pulmonary Edema)

เครื่องช่วยหายใจ BiPAP มีตั้งแต่รุ่นระดับพื้นฐาน ใช้กับผู้ป่วยที่ไม่เจาะคอ (Non-invasive ventilation) ไปจนถึงรุ่นที่มีการทำงานซับซ้อนซึ่งสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยเจาะคอ (Invasive ventilation) ได้ เช่น รุ่น Philips BiPAP A40 เป็นต้น

หมายเหตุ: หากเราแบ่งการใช้เครื่องช่วยหายใจตามประเภทของการส่งอากาศเข้าสู่ร่างกาย จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

  1. Non-invasive Ventilation (NIV) หมายถึง การใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางหน้ากากครอบจมูกและปาก เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเฉพาะเวลากลางคืน หรือต้องการช่วยหายใจน้อยกว่า 12-16 ชั่วโมงต่อวัน
  2. Invasive Ventilation หมายถึงการใช้เครื่องช่วยหายใจ ผ่านทางท่อเจาะคอ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องช่วยหายใจมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน

3) เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตร (Volume Controlled Ventilator)

เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตร หรือ Volume Controlled Ventilator เป็นเครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ มักใช้ในโรงพยาบาล เป็นเครื่องช่วยหายใจที่สามารถแสดงกราฟการหายใจต่างๆ ได้ เช่น Airway Pressure, Time flow, Time volume, Time pressure-volume loop และ Volume-flow loop ได้ โดยใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

เครื่องช่วยหายใจประเภทนี้สามารถควบคุมได้ทั้งปริมาตรและความดัน มีระบบการทำงานที่ซับซ้อนกว่าเครื่องช่วยหายใจ 2 ประเภทข้างต้น ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรง ผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อเจาะคอ (Invasive ventilation) รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ ทั้งแบบตลอดเวลาหรือบางขณะ

จะทราบได้อย่างไรว่าเครื่องช่วยหายใจประเภทใดเหมาะกับตนเอง

การรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจนั้น ในเบื้องต้นจะพิจารณาจากโรคและระดับความรุนแรงของผู้ป่วย เช่น สำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรนระดับปานกลางถึงรุนแรง อาจมีหรือไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย แพทย์ก็แนะนำเป็นเครื่อง CPAP

หากเป็นผู้ที่มีอาการนอนกรนขั้นรุนแรง และมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ก็จะแนะนำเป็นเครื่อง BiPAP รุ่นพื้นฐานที่มีฟังก์ชั่นการทำงานไม่ซับซ้อนมากนัก

ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในระดับที่ยังพอหายใจด้วยตนเองได้ และไม่ต้องเจาะคอ แพทย์ก็จะแนะนำเป็นเครื่องช่วยหายใจ BiPAP ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานที่ซับซ้อนขึ้นมาอีก เช่น มีระบบ Backup Rate ที่สามารถให้เครื่องช่วยในการหายใจให้ผู้ป่วยได้อัตโนมัติหากผู้ป่วยมีอัตราการหายใจช้ากว่าค่าที่กำหนดไว้

หรือมีระบบให้เครื่องสามารถปรับระดับแรงดันให้เองโดยอัตโนมัติเพื่อให้ได้ค่าปริมาตรอากาศในปอด (Tidal volume) ตามที่แพทย์ต้องการ เป็นต้น

ตัวอย่างเครื่อง BiPAP ในกลุ่มนี้ ได้แก่ DreamStation BiPAP S/TDreamStation BiPAP AVAPS-AE หรือ BiPAP A40 เป็นต้น

แต่ถ้าในกรณีที่เป็นผู้ป่วยภาวะวิกฤติที่มีอาการขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง (ทั้งแบบตลอดเวลาหรือบางขณะ) เช่น ผู้ป่วยในห้อง ICU แพทย์ก็จะให้ใช้เป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตร ซึ่งจะมีการทำงานที่หลากหลายและซับซ้อนมาก ซึ่งผู้เขียนขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดในบทความนี้ครับ

เครื่องช่วยหายใจ Ventilator ในโรงพยาบาล

เครื่องช่วยหายใจมีโหมด (Mode) อะไรบ้าง

เครื่องช่วยหายใจส่วนใหญ่จะมีโหมดการใช้งานดังนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเครื่องแบบไหน โดยถ้าเป็นเครื่องรุ่นสูงๆ จะมีโหมดการทำงานที่มากขึ้นตามลำดับ

  1. CPAP
  2. BiPAP
  3. Spontaneous (S)
  4. Spontaneous/Time (S/T)
  5. Time (T)
  6. Pressure Control (PC)
  7. SIMV
  8. โหมดพิเศษอื่นๆ ที่มีเฉพาะในบางรุ่น เช่น AVAPS-AE

วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ

เครื่องหายใจทั้ง 3 ประเภท เหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่โดยภาพรวม Ventilator ก็คือ เครื่องช่วยหายใจที่เป็นอุปกรณ์ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือนอนกรนที่อยู่ในขั้นรุนแรงและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ลดความรุนแรงหรือทำให้อาการเหล่านั้นหายไปได้

สำหรับทางการแพทย์วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator ) มีวัตถุประสงค์หลักๆ ดังนี้

  • ช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม
  • ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติ ในกรณีที่ได้รับยาสลบจากการผ่าตัด
  • ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติ ในกรณีที่มีอาการป่วยรุนแรง หรืออุบัติเหตุอันส่งผลต่อการหายใจ
ประโยชน์ของเครื่องช่วยหายใจ Ventilator

ประโยชน์ของเครื่องช่วยหายใจ

เครื่องช่วยหายใจเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้อย่างปกติ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพจากระบบทางเดินหาย และผู้ที่มีปัญหานอนกรนซึ่งอาการอยู่ในขั้นรุนแรงจนทำให้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ให้มีสุขภาพดีขึ้นได้ โดยข้อดีและประโยชน์ของเครื่องช่วยหายใจหลักๆ มีดังนี้

  1. ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีระบบทางเดินหายใจผิดปกติหายใจได้ดีขึ้น เพราะระบบการทำงานของเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator ) ทำงานใกล้เคียงกับการหายใจของคนปกติ
  2. ช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจมีโอกาสกลับมาหายใจได้เป็นปกติ
  3. ช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อย่างเช่นคนที่นอนกรน และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้รับออกซิเจนเพียงพอ
  4. ช่วยส่งเสริมการรักษาและการฟื้นตัวของผู้ป่วย
  5. ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคนอนไม่หลับจากการนอนกรน ทำให้คนที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลาจากปัญหาการนอนกรนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอเพราะต้องสะดุ้งตื่นบ่อยๆจากภาวะหยุดหายในขณะหลับ มีอาการดีขึ้น

การใช้เครื่องช่วยหายใจที่บ้าน

หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยมีอาการในระดับไม่รุนแรง หรือมีอาการคงที่หรือดีขึ้นแล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยกลับมารักษาตัวที่บ้าน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องช่วยหายใจตัวใหญ่และพักในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

โดยเครื่องหายใจที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อหรือเช่าเพื่อนำมาใช้ที่บ้านมักจะเป็นเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ มีการทำงานที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับเครื่องตัวใหญ่ตามโรงพยาบาล

ที่นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่คือ เครื่องช่วยหายใจประเภทแรงดัน 2 ระดับ (BiPAP) โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำการตั้งค่าหรือโหมดการทำงานที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยก่อนที่จะส่งตัวออกจากโรงพยาบาลมารักษาตัวต่อที่บ้าน

วิธีดูแลเบื้องต้น

  • ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อน-หลังดูแลผู้ป่วย
  • จัดท่าให้ผู้ป่วยได้หายใจอย่างสะดวก รวมถึงเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วยทุก 1 – 2 ชั่วโมง
  • กรณีผู้ป่วยเจาะคอ ต้องดูแลท่อเจาะคอให้อยู่กับที่ หมั่นเช็กความสะอาด และดูว่าไม่มีเสมหะอุดตันอยู่เสมอ
  • ตรวจสอบรอยต่อระหว่างเครื่อง รวมถึงตัวผู้ป่วยให้แน่น ไม่หลุดง่าย
  • สังเกตอาการว่าได้รับออกซิเจนเพียงพอหรือไม่

อุปกรณ์อื่นๆ

ผู้ป่วยที่แพทย์ให้ซื้อเครื่องช่วยหายใจกลับมารักษาตัวที่บ้าน แพทย์มักแนะนำอุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์อื่นๆ เพื่อช่วยในการรักษาด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค ตัวอย่างเครื่องมือแพทย์ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

  1. เครื่องผลิตออกซิเจน
  2. เครื่องพ่นยา
  3. เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์ออกซิเจนในเลือด
  4. เครื่องช่วยหายใจแบบบีบมือ (Ambu bag)

สรุป

หากท่านใดที่ยังกังวลและไม่แน่ใจว่าเครื่องช่วยหายใจประเภทใดที่เหมาะสมกับตนเองก็ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด แพทย์ที่รักษาท่านจะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำได้ดีที่สุดว่าควรใช้เครื่องประเภทไหน และตั้งค่าอย่างไร

จากนั้นท่านสามารถมาปรึกษากับบริษัทตัวแทนจำหน่ายเกี่ยวกับเครื่องช่วยหายใจในรายละเอียด ราคา และคุณสมบัติเครื่องรุ่นต่างๆ ได้ บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่คอยให้คำแนะนำตลอดการใช้งาน และจะช่วยท่านปรึกษากับแพทย์ถึงรายละเอียดการตั้งค่าเครื่องให้แก่ท่านอีกด้วยครับ

E-Book เปรียบเทียบ BiPAP รุ่นต่างๆ
New call-to-action

8 ความคิดเห็น

  1. ขอนำเนื้อหาบางส่วนไปนำเสนอ ความรู้ให้ น้องๆที่ จะดูแลคนไข้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ Non-invasive respirator นะคะ—> ขอบคุณค่ะ

  2. ขออนุญาตนำเนื้อหาไปประกอบการเรียนการสอน และเป็นความรู้นะครับ
    ขอบคุณครับ

    1. ได้เลยครับ ถ้าสามารถใส่เครดิตแหล่งที่มาเป็นลิงค์กลับมาที่เว็บไซต์ของเราให้ด้วย จะขอบพระคุณยิ่งครับ

  3. ขออนุญาตนำเนื้อหามาสอนน้องๆที่ตึกนะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *