เทคนิคน่ารู้เกี่ยวกับการนำเครื่อง CPAP ขึ้นเครื่องบิน

การนำ CPAP ขึ้นเครื่องบิน

ผมมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยถามเข้ามาว่า หากต้องการนำเครื่อง CPAP ไปต่างประเทศโดยนำขึ้นเครื่องบิน ต้องทำอย่างไรบ้าง

บางท่านก็กังวลกลัวจะมีปัญหาตอนเจ้าหน้าที่ขอตรวจ ฯลฯ  ขอบอกเลยครับว่า ไม่ยากเลย เพราะผมเองก็เป็นคนที่ใช้เครื่อง CPAP เป็นประจำและต้องเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยๆ ผมนำ CPAP ติดตัวไปด้วยทุกครั้งครับ เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว และไม่เคยมีปัญหาเลยซักครั้งเดียว

เพียงแต่ต้องมีการเตรียมตัวกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งวันนี้ผมจะมาแชร์เคล็ดลับและเทคนิคต่างๆ จากประสบการณ์จริงมาให้ทุกๆ ท่านได้อ่านกันครับ ผมได้รวบรวมเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

เก็บเครื่อง CPAP ไว้ในกระเป๋าสำหรับหิ้วขึ้นเครื่อง (Carry-on luggage) เท่านั้น

ท่านต้องเก็บ เครื่อง CPAP และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ในกระเป๋าสำหรับหิ้วขึ้นเครื่อง หรือ Carry-on luggage เท่านั้น ไม่ควรโหลดไปเก็บใต้ท้องเครื่องบินนะครับ เนื่องจากถ้าเราจัดกระเป๋าไม่ดี มีการวางผ้ามากันกระแทกให้แน่นหนา เวลาเจ้าหน้าที่ที่ท่าอากาศยานเค้าโยนกระเป๋าเรา ก็อาจเกิดการกระแทกและทำให้เครื่องและอุปกรณ์ของเราเกิดความเสียหายได้ครับ

ข้อนี้มีบางท่านแย้งผมว่า เคยเอาลงกระเป๋าใหญ่และโหลดใต้ท้องเครื่องบินมาเรา เครื่องก็ไม่เสียอะไร ยังใช้งานได้ปกติ อันนี้ผมขอบอกว่าขึ้นอยู่กับดวงของเราครับ หากแจ๊ตพอตเจอหน้าที่ยกกระเป๋าดี หรือท่านแพ็คมาดี ก็รอดไป แต่ถ้าเจอขาโหด โยนกระเป๋าเราอย่างแรง เครื่องอาจกระเทือนมากแต่อาจไม่มีอาการวันนี้ แต่อาจไปเสียหรือรวนในวันข้างหน้าได้ ผมว่าเราอย่าเสี่ยงดีกว่าครับ

เทน้ำออกจากตัวทำความชื้น (Humidifier) ให้หมด

ถ้าปกติท่านใช้เครื่อง CPAP ร่วมกับตัวทำความชื้น ก่อนเดินทางให้ท่านเทน้ำออกจากกระบอกน้ำให้หมด และทิ้งให้แห้งเสียก่อน ห้ามเดินทางโดยยังมีน้ำอยู่ในกระบอกน้ำของตัวทำความชื้นโดยเด็ดขาดนะครับ เนื่องจากอาจทำให้น้ำไหลเข้าตัวเครื่องและเกิดความเสียหายต่อแผงวงจรและมอเตอร์ในตัวเครื่องได้

ทุกท่านที่ซื้อเครื่องจากเรา เราจะแนะนำให้ท่านใช้น้ำดื่มจากขวด ในการเติมน้ำในตัวทำความชื้นเสมอ และห้ามใช้น้ำประปาบ้านเราเด็ดขาด (จริงๆ ถ้าจะให้ดี ควรใช้น้ำกลั่นทางการแพทย์ หรือ Sterile water for humidification แต่มีราคาแพง และหาซื้อได้ยาก)

ถึงแม้ว่าท่านจะเดินทางไปในบางประเทศที่เค้าบอกว่าสามารถดื่มน้ำจากก๊อกน้ำ (Tap water) ได้  เช่น ประเทศในยุโรปบางประเทศ ผมก็ยังแนะนำให้ใช้น้ำดื่มจากขวดในการเติม Humidifier อยู่ดีครับ ไม่แนะนำให้ใช้น้ำจากก๊อกประปา เพราะผมเคยลองใช้แล้วปรากฎว่าก็ยังมีคราบตะกรันในตอนเช้าอยู่เหมือนกันครับ แต่อาจจะน้อยกว่าตอนใช้น้ำประปาบ้านเราบ้างเล็กน้อย

Philips DreamStation Auto CPAP by NK Sleepcare

ห้ามใช้งานตัวทำความชื้น (Humidifier) ขณะอยู่บนเครื่อง

ถึงแม้ว่าเครื่องบางรุ่น เช่น Transcend หรือ DreamStation จะถูกอนุญาตให้นำไปใช้งานบนเครื่องบินได้ (โดยการต่อกับเต้ารับ AC หรือ DC บนเครื่องบิน และต้องใช้กับ power adapter ที่มากับเครื่องเท่านั้น) ท่านจะต้องใช้งานโดยไม่ต่อกับเครื่องทำความชื้นโดยเด็ดขาด และควรแจ้งกับพนักงานบนเครื่องบินล่วงหน้าก่อนการใช้งานทุกครั้งนะครับ

ทั้งนี้เนื่องจาก การใช้งานเครื่อง CPAP โดยต่อใช้งานกับเครื่องทำความชื้น (humidifier) ด้วยนั้น จะมีโอกาสที่เครื่องจะสะเทือน หรือไม่นิ่ง ทำให้น้ำไหลย้อนเข้าตัวเครื่อง CPAP ได้ และยังมีโอกาสที่น้ำจะหกออกมาเลอะเทอะบนเครื่องได้อีก ดังนั้นข้อนี้สำคัญมากนะครับ ห้ามใช้ humidifier บนเครื่องบินโดยเด็ดขาดครับ

อ่านเพิ่มเติม: ตัวทำความชื้น (Humidifier) จำเป็นหรือไม่

พกเอกสารที่จำเป็นไปด้วยทุกครั้ง

ในการเดินทางไปต่างประเทศทุกครั้ง ผมมักแนะนำให้นำเอกสารดังต่อไปนี้ไปด้วยทุกครั้งครับ

– คู่มือการใช้งานที่เป็นภาษาอังกฤษ (English User Manual)

เพราะบางท่านอาจเจอเจ้าหน้าที่ที่ด่านเอ็กซเรย์ถามว่านี่คือเครื่องอะไร เราก็โชว์คู่มือให้เค้าดูได้เลย ไม่ต้องอธิบายมาก หรือบางทีอธิบายแล้วเค้าไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อก็เป็นได้ (แต่ทั้งนี้ การที่จะโดนเจ้าหน้าที่ถามนั้นมีโอกาสน้อยมากๆ ครับ ผมเดินทางมาหลายปียังไม่เคยเจอเลย แต่มีลูกค้าบางท่านเล่าว่าเคยเจอถามอยู่เหมือนกัน)

ดังนั้น การพกคู่มือภาษาอังกฤษไปด้วยทุกครั้งก็น่าจะทำให้สบายใจได้ยิ่งขึ้นครับ แต่อย่าเผลอหยิบผิดนำคู่มือภาษาไทยไปแทนนะครับ เพราะเจ้าหน้าที่จะอ่านไม่รู้เรื่อง ถ้าท่านซื้อเครื่อง CPAP กับเรา ท่านจะได้คู่มือทั้งภาษาไทยและอังกฤษไปด้วยทุกครั้ง รวมทั้งท่านยังสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของเราได้ตลอดเวลาครับ ดังนั้นอย่าลืมนำไปแต่คู่มือภาษาอังกฤษนะครับ

– ใบรับรองแพทย์ภาษาอังกฤษ (ถ้ามี)

อันนี้แนะนำให้พกไว้เพื่อความสบายใจครับ เผื่อเจอเจ้าหน้าที่ถาม จะเพิ่มความน่าเชื่อถือได้

– จดหมายรับรองจาก FAA

ถ้าต้องใช้งาน CPAP ขณะอยู่บนเครื่องบินด้วย ให้นำหนังสือรับรองจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ไปด้วย เพื่อรับรองว่าเครื่อง CPAP รุ่นที่เราใช้อยู่ สามารถใช้งานบนเครื่องขณะทำการบินได้อย่างปลอดภัย

Philips DreamStation Go thru Airport Security
Philips DreamStation Go thru Airport Security
ในรูปคือเครื่องรุ่น DreamStation Go Auto CPAP

เช็คระบบไฟฟ้าของประเทศที่กำลังจะไปก่อนทุกครั้ง

ที่จำเป็นต้องเช็ค เพราะว่าบางประเทศใช้ไฟ 110 Volt บางประเทศใช้ไฟ 220 Volt ซึ่งเครื่อง CPAP ส่วนใหญ่จะมีหม้อแปลงไฟฟ้าในตัว หรือมีอแดปเตอร์แปลงไฟมาพร้อมกับสายไฟให้อยู่แล้ว ทำให้ท่านสามารถเสียบใช้งานเครื่อง CPAP กับระบบไฟฟ้าได้ทั่วโลก ถ้าเครื่องของท่านเป็นอย่างนี้ก็หมดปัญหาตรงจุดนี้ไปได้ครับ

แต่ท่านที่ไม่แน่ใจ ก็ควรตรวจเช็คตรงจุดนี้ก่อนก็ดีครับ เพราะบางท่านอาจใช้ CPAP รุ่นเก่า หรือเป็นรุ่นที่รับไฟได้แค่ 220 Volt เท่านั้น ถ้านำไปใช้ในประเทศที่ใช้ไฟ 110 Volt เครื่องก็ไม่ทำงานได้

เครื่อง CPAP ทุกรุ่นของ NK Sleepcare สามารถต่อใช้งานกับระบบไฟฟ้าได้ทั่วโลก (100 – 240 VAC, 50/60 Hz) หรือเรียกว่า auto voltage ท่านจึงสบายใจได้ครับ

เช็คลักษณะเต้ารับของประเทศที่กำลังจะไปก่อนทุกครั้ง

บางประเทศอาจมีเต้ารับไม่เหมือนกับบ้านเรา ทำให้ท่านต้องใช้ปลั๊กที่เข้ากันได้กับเต้ารับของเค้าเท่านั้น เช่น ถ้าท่านเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ซึ่งที่นั่นเค้าจะใช้เต้ารับแบบอังกฤษ คือมี 3 รูตามรูปด้านล่างนี้ ปลั๊กที่ใช้ก็จะมีลักษณะเฉพาะที่จะสามารถเสียบกับเต้ารับแบบนี้ได้เท่านั้น

British and Singapore Power Outlet
UK power socket board and plug

หรือถ้าในประเทศออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ก็จะมีลักษณะดังรูปด้านล่างนี้ครับ

Australian and New Zealand Power Outlet
Australian and New Zealand three pin mains 230v power socket board and plug

ดังนั้นก่อนเดินทางทุกครั้ง ท่านควรเช็คลักษณะเต้ารับของประเทศที่กำลังจะไปให้ดีเสียก่อน ซึ่งท่านสามารถค้นหาจาก Google ได้ไม่ยาก หากเต้ารับของเค้าไม่เหมือนกับของไทย ท่านก็ควรเตรียม power adapter สำหรับการแปลงหัวปลั๊กไปด้วย เพื่อให้สามารถเสียบปลั๊กกับเต้ารับของประเทศนั้นๆ ได้ครับ

แต่หากในกรณีที่ท่านลืมนำอะแดปเตอร์แปลงหัวปลั๊กไปด้วย ก็ไม่ต้องตกใจไปครับ ท่านยังสามารถหาซื้อในประเทศปลายทางได้ เช่น ในร้านสะดวกซื้อ หรือในโรงแรมบางแห่งก็อาจมีขาย เพียงแต่ว่าอาจมีราคาแพงกว่าการซื้อจากไทยไปครับ ดังนั้นทางที่ดีผมแนะนำให้ท่านหาซื้อในไทยแล้วพกไปเองดีกว่าครับ เพื่อความสะดวกและประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วยครับ ขอให้ทุกท่านเดินทางอย่างมีความสุขนะครับ

การนำแบตเตอรี่ขึ้นเครื่องบิน

ในกรณีที่ท่านต้องการนำแบตเตอรี่เครื่อง CPAP เดินทางไปด้วย (รวมถึง power bank สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ) การขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (IATA) ได้ออกกฎมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับการนำแบตเตอรี่ (Power Bank) ขึ้นเครื่องบิน โดยระบุว่า ห้ามนำแบตเตอรี่ใส่กระเป๋าเดินทางโหลดใต้เครื่อง แต่ให้ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องได้

ทั้งนี้ กรุณาศึกษาระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์การแพทย์และแบตเตอรี่ขึ้นเครื่องของแต่ละสายการบินก่อนเดินทางนะครับ ลองดูตัวอย่างข้อบังคับของบางสายการบินตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ

การบินไทย (Thai Airways)

แอร์เอเชีย (Air Asia)

บางกอกแอร์เวย์ส (Bangkok Airways)

เอมิเรตส์ (Emirates)

6 ความคิดเห็น

  1. อยากทราบว่าน้ำหนักของ cpap รวมอยู่กับน้ำหนักกระเป๋าที่โหลดหรือไม่คะ

    1. เครื่อง cpap แนะนำให้ถือขึ้นเครื่องจะดีกว่าครับ ไม่แนะนำให้โหลด ดังนั้นน้ำหนักของ cpap จะรวมอยู่กับน้ำหนักกระเป๋าที่อนุญาตให้ถือขึ้นเครื่องครับ (ไม่เกิน 7 กก.)

      1. สอบถามนะคะ
        เครื่องcpapนำขึ้นเครื่องได้แล้วส่ยชาร์ตกับแบตของเครื่อง นำขึ้นเครื่องด้วยได้ไหมคะ หรือต้องแยกใส่กระเป๋าโหลดใต้เครื่องคะ

        1. สายชาร์จกับแบตเตอรี่ก็สามารถนำขึ้นเครื่องได้ครับ จริงๆ แล้วสายการบินส่วนใหญ่จะห้ามนำแบตเตอรี่ใส่กระเป๋าเดินทางโหลดใต้เครื่องแต่ให้ใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่อง ทั้งนี้แนะนำให้ศึกษานโยบายของแต่ละสายการบินเกี่ยวกับแบตเตอรี่ที่จะนำขึ้นเครื่องก่อนที่เราจะเดินทาง โดยดูจากลิงค์ในบทความนี้เป็นตัวอย่างได้ครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *