CPAP คืออะไร ช่วยแก้ปัญหานอนกรนได้อย่างไร?
หากท่านมีปัญหานอนกรนหนักมาก หลังจากไปตรวจ sleep test แล้วพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และแพทย์ได้แนะนำให้รักษาด้วยเครื่อง CPAP ท่านอาจมีความสงสัยว่า CPAP คืออะไร วันนี้ผมจะพามารู้จักกับเจ้าเครื่องมือนี้อย่างละเอียด รับรองว่าอ่านบทความนี้แล้ว จะทำให้เข้าใจมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ
CPAP คืออะไร?
CPAP อ่านว่า ซี-แพบ ย่อมาจาก Continuous Positive Airway Pressure คือเครื่องช่วยหายใจประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้หลักการอัดแรงดันอากาศให้แก่ผู้ใช้ในขณะหายใจเข้า เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น สำหรับรักษาผู้ที่นอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA)
โดยเครื่อง CPAP นี้สามารถรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ทุกระดับอาการ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการในระดับปานกลาง (Moderate) ถึงรุนแรง (Severe)
อ่านเพิ่มเติม:
– อาการนอนกรนเกิดจากอะไร?
– ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) คืออะไร?
CPAP เป็นอุปกรณ์ที่แพทย์ทั่วโลกยอมรับ และจัดเป็นมาตรฐานสูงสุด (Gold Standard) ในการรักษาอาการนอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับ
CPAP อาจถูกเรียกได้หลายชื่อ เช่น เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า หรือบางท่านอาจเรียกง่ายๆ ว่า เครื่องช่วยนอนกรน ตามสรรพคุณและความสามารถของมันนั่นเองครับ
ทำไมต้องใช้ CPAP?
หากท่านได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการนอนกรนแบบอันตราย คือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย และมีค่าดัชนีการหยุดหายใจขณะหลับ (AHI) มากกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมง แพทย์จะแนะนำให้ท่านรักษาด้วยการใช้เครื่อง CPAP
หลักการทำงานของเครื่อง CPAP
เครื่อง CPAP มีหลักการทำงาน ในการช่วยรักษาอาการนอนกรน โดยเครื่องจะดูดอากาศจากภายนอก ผ่านแผ่นกรองฝุ่น และผลิตแรงดันอากาศส่งออกมา ผ่านทางท่อลม เข้าสู่หน้ากากที่ครอบจมูกเราไว้ และผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเรา
ที่มา: harvard.edu
ซึ่งถ้าท่านได้อ่านบทความเรื่องนอนกรนของผม จะทราบว่าอาการนอนกรน เกิดจากการที่ช่องทางเดินหายใจของเราเกิดตีบแคบลง เนื่องจากกล้ามเนื้อต่างๆ ในบริเวณนั้น เช่น โคนลิ้น มีการหย่อนตัวลง ทำให้ลมที่ผ่านช่องแคบนี้ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการสั่นกระพือ เป็นเสียงกรนดังขึ้น
และบางครั้ง กล้ามเนื้อที่หย่อนตัวลงนี้ อาจหย่อนจนมาปิดช่องทางเดินหายใจของเราจนปิดสนิท เกิดเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ดังนั้นแรงดันอากาศที่เครื่อง CPAP สร้างขึ้นมานี้ จะมาถ่าง หรือขยายช่องทางเดินหายใจของเรา ให้เปิดกว้างออก มีผลทำให้แก้ไขต้นเหตุของการนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับได้นั่นเอง
ผู้ที่ใช้งานเครื่องจึงสามารถหายใจรับอากาศเข้าไปได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดการอุดกั้น
อีกข้อที่ท่านควรทราบก็คือ เครื่องนี้จะนำอากาศจากภายนอกมาสร้างแรงดันเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เครื่องเพิ่มปริมาณออกซิเจนอย่างที่หลายท่านเข้าใจนะครับ (เครื่อง CPAP กับเครื่องผลิตออกซิเจน ต่างกันอย่างไร?)
- แนะนำอ่านเพิ่มเติม: 54 ข้อ รู้จริงเรื่อง CPAP อุปกรณ์รักษาอาการนอนกรน
อุปกรณ์ CPAP มีอะไรบ้าง
หากท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็คงทราบแล้วว่าเครื่อง CPAP คืออะไร ทำงานอย่างไร ตอนนี้เราจะมาพูดถึงส่วนประกอบของเครื่องกันบ้าง
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมี CPAP อยู่หลายยี่ห้อ หลายรุ่น แต่อย่างไรก็ตามส่วนประกอบหลักๆ นั้นจะเหมือนกัน ได้แก่
- เครื่องสร้างแรงดันอากาศ (CPAP Device)
- หน้ากาก (CPAP Mask) และสายรัดศีรษะ (Headgear)
- ท่ออากาศ
- อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น เครื่องทำความชื้น (Humidifier) หรือ ท่อร้อน (Heated Tube) สำหรับป้องกันการเกิดหยดน้ำในท่อ เป็นต้น
อุปกรณ์ในข้อ 1-3 เป็นส่วนที่จำเป็น ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งไป ก็จะใช้งานไม่ได้ ส่วนข้อ 4 ท่านอาจมีหรือไม่ก็ได้ครับ
ในรูป: เครื่อง Philips DreamStation Go Auto CPAP
เครื่อง CPAP ประเภทต่างๆ
เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแล้ว และแนะนำให้ท่านรักษาด้วยเครื่อง CPAP (CPAP Therapy) ขั้นตอนต่อไป คือการเลือกประเภทของเครื่อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- เครื่องช่วยหายใจ CPAP แบบปรับแรงดันอัตโนมัติ (Auto CPAP)
- เครื่องช่วยหายใจ CPAP แรงดันคงที่ (Manual CPAP / Fixed CPAP)
- เครื่องช่วยหายใจ แบบแรงดัน 2 ระดับ (Bilevel PAP หรือ BiPAP)
หากผลจากการตรวจ Sleep test พบว่าท่านใช้แรงดันรักษาไม่สูงนัก หรือท่านมีอาการรุนแรง ซึ่งต้องใช้แรงดันคงที่ตลอดเวลา แพทย์อาจแนะนำให้ซื้อเป็นเครื่องประเภทแรงดันคงที่ ซึ่งมีราคาถูกกว่าประเภทอื่นๆ
แต่ในเคสส่วนมาก แพทย์จะแนะนำให้ใช้เป็นเครื่อง Auto CPAP เพราะคนไข้ส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้สบายกว่า อึดอัดน้อยกว่า แต่ราคาก็สูงกว่าแบบแรงดันคงที่ครับ
ส่วนเครื่องประเภทแรงดัน 2 ระดับ (BiPAP) นั้นจะใช้ในผู้ที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรง (Severe OSA) ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงดันในการรักษาสูงมาก เช่น 20 cmH2O ขึ้นไป ซึ่งหากใช้เครื่องแบบ Fixed หรือ Auto CPAP เวลาหายใจออกจะอึดอัดมาก เนื่องจากต้องหายใจสวนทางกับแรงลมที่เครื่องพ่นออกมา
เครื่อง BiPAP จะสามารถตั้งให้แรงดันในขณะหายใจเข้าและออกมีค่าแตกต่างกันได้
“เครื่อง CPAP นั้นจัดเป็นวิธีการรักษาอาการนอนกรนแบบไม่ต้องผ่าตัดที่ได้ประสิทธิผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง และได้รับการยอมรับจากแพทย์ทั่วโลก”
ข้อดี-ข้อเสียของ CPAP แต่ละประเภท
จากหัวข้อที่แล้ว เครื่อง Auto CPAP นั้นจะปรับแรงดันลมที่เหมาะสมที่สุด ให้กับเรา โดยอัตโนมัติตลอดทั้งคืน ผู้ใช้เพียงแต่ตั้งช่วงแรงดันไว้ เช่น 6-12 cmH2O เป็นต้น
ในขณะใช้งาน เครื่องจะปล่อยแรงดันลมให้เรา ตามระดับอาการ และลักษณะการหายใจ เช่น ในขณะที่เครื่องให้แรงดันอยู่ที่ 7 cmH2O แล้วเราเกิดมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือการกรนรุนแรงขึ้น เครื่องก็จะคำนวณและจ่ายแรงดันสูงขึ้นเป็น 7 หรือ 8 cmH2O เป็นต้น
ส่วนเครื่อง Manual หรือ Fixed CPAP นั้นจะจ่ายแรงดันคงที่ค่าเดียว ตามที่เรากำหนดไว้ ตลอดทั้งคืน เช่นที่ 9 cmH2O เป็นต้น
เครื่อง Manual CPAP จะไม่สนใจว่าเราจะมีอาการระดับไหน เครื่องจะปล่อยแรงดันลมตามที่เรากำหนดไว้เสมอ
โดยปกติแล้ว เราจะทราบระดับแรงดันที่เหมาะสมในการรักษาอาการนอนกรน จากการตรวจ sleep test ซึ่งทำให้สามารถเลือกซื้อเครื่องชนิดแรงดันคงที่ไปใช้ได้
แต่ในกรณีที่ไม่ได้ทำ sleep test หรือไม่มีผลการใช้เครื่อง CPAP จาก sleep test ผมมักจะแนะนำให้ใช้เครื่องแบบอัตโนมัติ (Auto CPAP) เพราะเครื่องจะหาแรงดันที่เหมาะสมให้กับเราโดยอัตโนมัติตลอดเวลา โดยที่เราไม่ต้องทราบค่าแรงดันก็ได้
ข้อดีของเครื่อง Auto CPAP ที่เหนือกว่าเครื่อง Manual CPAP อีกข้อก็คือ ผู้ใช้ไม่ต้องคอยปรับตั้งแรงดันอยู่เรื่อยๆหากร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น อายุมากขึ้น น้ำหนักมากขึ้น หรือในบางคืนที่ต้องการแรงดันสูงกว่าปกติ เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยจากการออกแรง หรือเล่นกีฬา หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
Auto CPAP
ข้อดี:
- เครื่องจะปรับแรงดันที่เหมาะสมให้เราแบบอัตโนมัติ
- รู้สึกสบายกว่า อึดอัดน้อยกว่า เนื่องจากแรงดันลมไม่ได้สูงตลอดทั้งคืน บางช่วงเวลาแรงดันอาจต่ำลงได้ ถ้าอาการไม่รุนแรง เช่น ช่วงเริ่มต้นนอน หรือตอนที่หลับไม่ลึก
- ใช้งานง่าย เพียงแค่กดปุ่มเปิดเครื่อง และในระยะยาวก็ไม่ต้องคอยมาปรับตั้งแรงดันเรื่อยๆ
ข้อเสีย:
- มีราคาแพง
- ค่าดัชนีการหยุดหายใจ (AHI) อาจมีค่าสูงกว่าการใช้เครื่อง Manual CPAP เล็กน้อย เพราะเครื่องต้องปล่อยให้เราหยุดหายใจช่วงหนึ่งก่อน จึงค่อยปรับแรงดันให้สูงขึ้น
Manual CPAP
ข้อดี:
- มีราคาถูกกว่าแบบ Auto
ข้อเสีย:
- ใช้งานแล้วรู้สึกอึดอัดมากกว่า โดยเฉพาะถ้าต้องใช้งานที่ระดับแรงดันสูงๆ
- ต้องคอยนำผลการใช้เครื่องไปพบแพทย์ เพื่อปรับตั้งแรงดันให้เหมาะสมอยู่เสมอ
อ่านเพิ่มเติม: เลือกเครื่อง CPAP แบบ Auto หรือ Manual ดี?
หน้ากาก CPAP (CPAP Masks)
หน้ากาก CPAP จัดเป็นอุปกรณ์ที่มีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นตัวตัดสินเลยว่า ท่านจะสามารถใช้งานเครื่อง CPAP ได้หรือไม่ หลายๆ ท่าน ยอมแพ้ที่หน้ากาก แต่ก็มีหลายท่านที่ใช้หน้ากากได้ดี ทำให้สามารถใช้เครื่อง CPAP ต่อไปได้ระยะยาว
หน้ากาก CPAP สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
หน้ากากแบบครอบเฉพาะจมูก (Nasal mask)
เป็นหน้ากากที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะใช้งานง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาลมรั่ว แพทย์จึงมักแนะนำหน้ากากแบบนี้ ให้กับผู้ที่เพิ่งใช้งานเครื่อง CPAP เป็นครั้งแรก
หน้ากากแบบสอดจมูก (Pillow mask)
หน้ากากแบบนี้จะแปะอยู่ปลายจมูก (ไม่มีส่วนที่ครอบจมูก) ทำให้รู้สึกสบาย ไม่อึดอัด แต่มีข้อเสียคือ มักเกิดลมรั่วได้ง่ายกว่าแบบอื่น จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้แรงดันลมไม่สูงนัก หรือผู้ที่ใช้งาน CPAP มาซักระยะหนึ่งแล้ว ไม่เหมาะกับมือใหม่ครับ
หน้ากากแบบครอบจมูกและปาก (Full face mask)
หน้ากากแบบนี้จะเหมาะสำหรับคนที่นอนอ้าปาก ข้อดีคือ แก้ปัญหาลมรั่วออกทางปาก แต่ข้อเสียก็คือ ผู้ใช้มักจะมีอาการคอแห้ง หรือบางท่านอาจเกิดปัญหาลมเข้าท้อง ทำให้ท้องอืดได้
วิธีการใช้งานเครื่องช่วยนอนกรน CPAP
การรักษานอนกรนด้วยเครื่อง CPAP นั้น เปรียบเหมือนการรักษาสายตาด้วยการใส่แว่น คือท่านต้องใช้เครื่องทุกคืน คืนไหนไม่ได้ใช้ ก็จะกลับมากรนเหมือนเดิม
ผมแนะนำให้ท่านพยายามใช้เครื่อง CPAP ให้ได้ทุกคืน อย่างน้อยคืนละ 4 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวครับ
วิธีการใช้มีขั้นตอนดังนี้
- ตั้งเครื่อง CPAP ไว้ข้างที่นอน
- เสียบปลั๊กไฟเข้ากับตัวเครื่อง
- ต่อท่ออากาศเข้ากับตัวเครื่อง และหน้ากาก
- นำหน้ากากมาใส่
- เปิดเครื่องแล้วเข้านอนตามปกติ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักใช้เพียงหน้ากากที่ครอบจมูก (Nasal Mask) แต่บางท่านอาจจำเป็นต้องใช้หน้ากากแบบครอบทั้งปากและจมูก (Full Face Mask) และน้อยรายมากที่จะใช้หน้ากากครอบเฉพาะบริเวณปาก (Oral Mask)
วิดีโอแสดงการใช้งานเครื่อง CPAP
ในตัวอย่างนี้ จะแสดงการใช้งานเครื่อง CPAP Philips รุ่น DreamStation Auto แต่หลักการพื้นฐานสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องได้ทุกรุ่นครับ
วิดีโอแสดงการใส่หน้ากาก CPAP Mask
ในตัวอย่างนี้ จะแสดงการสวมใส่หน้ากาก Philips รุ่น DreamWear แต่หลักการพื้นฐานสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหน้ากากรุ่นอื่นๆ ได้หมดครับ
ควรทำ Sleep Test ก่อนหรือไม่
อันนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่ผมเจอแทบทุกวัน คำตอบคือ “ควรทำ sleep test ก่อนซื้อเครื่อง CPAP ครับ”
เนื่องจาก CPAP จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นก็ควรให้แพทย์เป็นผู้แนะนำจะดีที่สุด
แพทย์ที่ท่านควรไปปรึกษาก็ควรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการนอนหลับโดยเฉพาะ (Sleep Specialist) ซึ่งกรณีส่วนใหญ่ แพทย์จะส่งต่อให้ท่านไปทำการตรวจ Sleep test ก่อน ทั้งนี้เพื่อเหตุผลสำคัญดังนี้
- เพื่อจะได้ข้อมูลต่างๆ ในการวิเคราะห์ และวินิจฉัย เพื่อแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมกับท่าน
- เพื่อหาระดับอาการก่อนการรักษา เพื่อใช้เป็นตัววัดความคืบหน้าของการรักษา
- ส่วนมาก มักจะนำเครื่อง CPAP มาให้ทดลองใช้ในครึ่งคืนหลัง เพื่อหาค่าแรงดันอากาศที่เหมาะสมในการรักษา
- เพื่อหาอาการหรือโรคอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
ดูรายชื่อโรงพยาบาลรักษานอนกรนและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่นี่
ประโยชน์และข้อดีของการรักษานอนกรนด้วยเครื่อง CPAP
ตามรายงานการวิจัยทั่วโลก การใช้เครื่อง CPAP จัดเป็นการรักษา ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ระดับปานกลางหรือรุนแรง ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ในแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด
หลังจากที่ท่านได้ทำ sleep test หรือได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์แล้ว หากท่านได้ใช้เครื่องตลอดทั้งคืน และเป็นประจำทุกคืน จะส่งผลดีต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลดีของการรักษาด้วย CPAP ในระยะสั้น
ผลดีในระยะสั้น คือท่านจะไม่มีอาการนอนกรนอีกต่อไป และจะนอนหลับได้ดีขึ้นพร้อมกับได้รับอากาศอย่างเต็มที่อีกด้วย ตื่นขึ้นมาจะสดชื่น ไม่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่ง่วงนอนตอนกลางวัน ไม่มีอาการหลับในตอนขับรถ สมาธิดีขึ้น ความจำดีขี้น อย่างที่ท่านรู้สึกถึงความแตกต่างได้
ผลดีของการใช้ CPAP ในระยะยาว
ผลดีในระยะยาว คือท่านจะลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้อีกด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยหากท่านติดตามดูแลการรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด จะมีความเสี่ยงในการรักษาน้อยมาก
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP และวิธีแก้ไข
บางท่านที่เริ่มใช้เครื่อง CPAP อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องได้ เช่น
ขนาดของหน้ากาก อาจไม่พอดีกับโครงหน้าของท่าน หรืออาจใส่แน่นเกินไป จนเกิดเป็นรอยกดทับ โดยเฉพาะบริเวณสันจมูก
หรือบางครั้ง หน้ากากอาจมีขนาดใหญ่เกินไป หรือใส่ไม่แน่น ก็อาจทำให้เกิดลมรั่วได้ ลมที่รั่วนี้จะไหลเข้าตา ทำให้รำคาญ หรือปลุกให้ท่านตื่น
บางท่านอาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีเลือดกำเดาไหล เนื่องจากมีแรงดันลมไหลผ่านโพรงจมูกเป็นเวลานานๆ หรือบางท่านอาจมีอาการโพรงจมูกแห้ง หรือคอแห้ง
ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ มักทำให้ท่านรำคาญ หรือท้อใจ จนทำให้เลิกใช้เครื่องในที่สุด
ผมขอบอกอย่างนี้ครับ ปัญหาย่อมเกิดขึ้นได้ แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้ จนกว่าจะได้ลองแก้ไขก่อนครับ
หากท่านเจอปัญหาการใช้งาน ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ หรือบริษัทที่ท่านซื้อเครื่อง CPAP ดูก่อน ปัญหาส่วนใหญ่มักจะถูกแก้ไขได้ ด้วยการปรับเพียงเล็กน้อย
และสำหรับท่านที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ท่านก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดด้วย
หรือบางท่าน อาจใส่หน้ากากได้ดีแล้ว แต่ก็ยังนอนไม่หลับ เพราะรู้สึกรำคาญที่ต้องใส่หน้ากากตอนนอน อันนี้คงต้องใช้เวลาปรับตัวซักระยะนึงครับ ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน
นอกจากนี้ ผมยังพบข้อเสียอื่นๆ เช่น บางท่านอาจรู้สึกกลัวการใส่หน้ากาก หรือเป็นโรคกลัวที่แคบ หรือคิดว่า ถ้าใช้เครื่องแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนคนป่วยหนัก
หรือบางท่านที่ต้องเดินทางบ่อยๆ มักรู้สึกไม่สะดวกที่ต้องพกพาเครื่องไปด้วย แต่ในปัจจุบันเรามีเครื่อง CPAP ขนาดเล็ก และมีน้ำหนักเบา ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการพกพาเดินทางโดยเฉพาะ และมักจะมีแบตเตอรี่พกพาสำหรับใช้งานโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟมาให้อีกด้วยครับ
ปัญหาที่พบบ่อย และวิธีแก้ไข
รู้สึกอึดอัดเนื่องจากแรงดันลมแรงไป | เครื่องส่วนมากจะมีฟังก์ชั่น Ramp คือให้เครื่องแรงดันลมที่ระดับต่ำๆ ก่อนในช่วงเริ่มต้นการนอน ให้ลองถามจากผู้ขายเครื่องเพื่อเปิดใช้งาน หากรู้สึกอัดอัดในระหว่างกลางดึก ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อลองปรับลดระดับแรงดันลง แล้วค่อยๆ ปรับขึ้นทีละนิด ลองปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนเป็นเครื่อง CPAP ที่ปรับความดันอัตโนมัติ (Auto CPAP) หรือเครื่องความดันบวกแบบ 2 ระดับ (BIPAP) |
เกิดลมรั่วจากหน้ากาก | รัดหน้ากากให้แน่นขึ้น เปลี่ยนขนาดหน้ากากให้เหมาะสม หน้ากากอาจมีขนาดใหญ่หรือเล็กไป ลองพิจารณาเปลี่ยนมาใช้หน้ากากแบบสอดรูจมูก (Nasal Pillow Mask) หากแก้ไขทุกอย่างแล้ว ยังเกิดลมรั่วเข้าตา ให้ลองดาวน์โหลดผลจากตัวเครื่องเพื่อดูค่าการรั่ว (Leak)* หากยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ให้ลองใช้ผ้าปิดตาขณะหลับ *ท่านสามารถนำเครื่องเข้ามาให้ทางเราช่วยดาวน์โหลดผลให้ได้ |
ถอดหน้ากากเองกลางดึก | ลองใช้ CPAP รุ่นที่มีเครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้น (humidifier) ร่วมด้วย ลองใช้สายรัดคางร่วมกับหน้ากาก ลองปรึกษาแพทย์ หรือผู้ที่ขายเครื่อง เพื่อลองปรับลดระดับแรงดันลง ปรีกษาผู้ที่ขายเครื่อง เพื่อตั้งค่าให้เครื่องส่งเสียงเตือน เมื่อเกิดลมรั่ว |
เกิดรอยกดทับบริเวณสันจมูก | คลายสายรัดหน้ากาก (Headgear) อย่าให้แน่นจนเกินไป เลือกหน้ากากที่มีขนาดพอเหมาะ อาจหยุดใช้เครื่องซัก 2-3 วัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น เปลี่ยนประเภทของหน้ากาก |
มีอาการคัดแน่นจมูก หรือมีเลือดกำเดาไหล | พิจารณาใช้ CPAP รุ่นที่มีเครื่องทำความชื้น (Heated humidifier) ร่วมด้วย เครื่องนี้จะทำอากาศให้อุ่นขึ้น และเพิ่มความชื้นในอากาศที่เครื่องปล่อยออกมา ลองใช้น้ำเกลือพ่นจมูก เพื่อให้ความชุ่มชื้นก่อนเริ่มใช้เครื่อง ลองใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้) ลองกินยาต้านฮิสตามีนชนิดไม่ง่วง (ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้) ลองปรึกษาแพทย์ หรือผู้ที่ขายเครื่อง เพื่อลองปรับลดระดับแรงดันลง ในรายที่อาการคัดจมูกไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก |
รู้สึกกลัวการใส่หน้ากาก หรือเป็นโรคกลัวที่แคบ | ลองปรึกษาแพทย์ และผู้ที่ขายเครื่อง เพื่อพิจารณาเปลี่ยนชนิดหน้ากากเป็น ประเภทสอดรูจมูก (Nasal Pillow Mask) ลองใส่เครื่องขณะยังตื่น เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน อาจทำให้ลดความกังวล และความกลัวลงได้ สามีหรือภรรยา ควรให้กำลังใจแก่ผู้ที่ใช้งาน เพื่อให้คลายกังวล และสามารถอดทนใช้เครื่องต่อไปได้ |
ใช้เครื่องแล้วนอนไม่หลับ | ฝึกใส่เครื่องขณะยังตื่น เช่น ก่อนนอน เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในช่วง 8 ชั่วโมงก่อนนอน |
ใช้เครื่องแล้วปากแห้ง คอแห้ง | พิจารณาใช้ CPAP รุ่นที่มีเครื่องทำความชื้น (Heated humidifier) ร่วมด้วย ลองเปลี่ยนมาใช้หน้ากากแบบครอบปากและจมูก (Full Face Mask) ลองใช้สายรัดคางร่วมด้วย รับประทานน้ำ 1 แก้วก่อนนอน ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น โดยเฉพาะอย่าให้แอร์ หรือพัดลมเป่าโดยตรง ถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียสเพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา |
ถ้าใช้เครื่อง CPAP ไม่ได้จริงๆ ต้องทำอย่างไร
ก่อนอื่น ท่านควรพยายามใช้งานเครื่องให้มากที่สุดในทุกๆ คืน หรือถ้าเป็นไปได้ ควรใช้เครื่องให้ได้อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าท่านไม่สามารถใช้ได้จริงๆ
และหากท่านได้ลองแก้ไข ตามวิธีที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วพบว่ายังไม่สามารถใช้งานเครื่อง CPAP ได้ ท่านควรกลับไปปรึกษาแพทย์ที่รักษาท่านอีกครั้งครับ
แพทย์อาจลองตรวจหาสาเหตุอื่นๆ อย่างละเอียด เช่น ท่านอาจมีโรคทางจมูก เช่นผนังกั้นจมูกคด ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ หรือ ภูมิแพ้ เป็นต้น เพื่อแพทย์จะได้หาทางแก้ไขที่ต้นเหตุเหล่านั้นเสียก่อนครับ
ท้ายสุดแล้ว แพทย์อาจเสนอวิธีการรักษาแบบอื่นๆ ให้ท่าน เช่น การผ่าตัด หรือใช้เครื่องมือทางทันตกรรม (Oral appliance) เป็นต้น
ราคาเครื่อง CPAP ในท้องตลาด
ปัจจุบันเครื่อง CPAP มีหลายราคา เครื่องประเภทแรงดันคงที่ (Manual CPAP) อาจมีราคาประมาณ 2-3 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นแบบอัตโนมัติ (Auto CPAP) หรือแบบความดัน 2 ระดับ (BiPAP) ราคาจะสูงขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัว (ราคาของเครื่อง CPAP นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง)
ซึ่งหากท่านได้ตรวจการนอนหลับ (Sleep test) มาแล้ว และมีการทดลอง CPAP ในระหว่างคืนที่ทำการตรวจ (CPAP Titration) ท่านก็จะทราบค่าแรงดันรักษาที่เหมาะกับตัวท่าน
ในกรณีนี้ท่านสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง manual และ auto CPAP แต่อย่างไรก็ดี ผมมักแนะนำอย่างนี้ครับ หากแรงดันของท่านไม่เกิน 8 cmH2O ก็สามารถใช้เครื่อง Manaul ได้เลย แต่ถ้าแรงดันที่ท่านต้องใช้เกินกว่า 8 cmH2O ผมแนะนำให้ซื้อเป็นเครื่อง Auto CPAP ไปเลยครับ เพราะจะใช้งานได้สบายกว่า
ท่านที่เป็นข้าราชการ สามารถใช้สิทธิ์เบิกจากกรมบัญชีกลางได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเครื่อง เบิกเครื่องใหม่ได้ทุกๆ 5 ปี (หากเครื่องเสีย)
หมายความว่า ถ้าท่านเลือกซื้อเครื่องเกินกว่า 20,000 บาท ท่านก็ต้องจ่ายส่วนที่เกินมาด้วยตัวเอง แต่ก็นับว่าช่วยประหยัดลงไปได้มาก
ส่วนหน้ากาก สามารถใช้สิทธิ์เบิกราชการได้ ไม่เกิน 4,000 บาท โดยเบิกได้ปีละ 1 ครั้ง
หากท่านไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน เครื่อง Auto CPAP จะใช้งานได้ง่ายและอึดอัดน้อยกว่าแบบ Manual มาก อีกทั้งไม่ต้องคอยมาปรับแรงดันด้วยดัวเอง หากร่างกายของท่านมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น อ้วนขึ้น หรือบางคืนอาจกรนดังกว่าปกติ เนื่องจากออกกำลังกายมา หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มา เป็นต้น เนื่องจากเครื่อง Auto CPAP จะปรับแรงดันให้เองโดยอัตโนมัติตามอาการของเรานั่นเองครับ
การทำความสะอาดและการดูแลรักษาเครื่อง CPAP และอุปกรณ์
หน้ากาก
- ถอดซิลิโคนครอบจมูกหรือชิ้นส่วนที่สัมผัสกับผิวหน้าออกมาออกมาจากโครงหน้ากาก
- ล้างด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า
- ทิ้งไว้ให้แห้งในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
*ห้ามล้างด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำร้อน และห้ามตากแดด
สายรัดศีรษะ (Headgear)
- ถอดสายรัดศีรษะออกมา
- ล้างด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ หรือน้ำเปล่าผสมน้ำยาซักผ้าอ่อนๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า
- ทิ้งไว้ให้แห้งในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
*ห้ามล้างด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำร้อน และห้ามตากแดด
ท่ออากาศ (Tubing)
- ถอดท่ออากาศออกจากตัวเครื่องและหน้ากาก
- ล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่อ่อนๆ
- แขวนท่อโดยห้อยปลายท่อทั้งสองด้านลง แล้วทิ้งไว้ให้แห้งในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
*ห้ามล้างด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำร้อน และห้ามตากแดด
ตัวเครื่อง CPAP
- ถอดปลั๊กไฟออกก่อนทุกครั้ง
- ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเปล่า เช็ดรอบๆ ด้านนอกตัวเครื่อง แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดอีกที
*ห้ามล้างด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำร้อน และห้ามตากแดด
*ควรนำเครื่องเข้ามาตรวจเช็คที่บริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
แผ่นกรองอากาศแบบหยาบ (ใช้ซ้ำได้ / Reusable)
- เปิดฝาปิดด้านข้างตัวเครื่อง แล้วดึงแผ่นกรองออกมา
- ถ้าใช้แผ่นกรองแบบละเอียดสีฟ้าร่วมด้วย ให้ถอดออกก่อน
- ล้างแผ่นกรองหยาบด้วยน้ำเปล่า แล้วสลัดน้ำออกให้มากที่สุด
- ทิ้งไว้ให้แห้งในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
*ห้ามล้างด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำร้อน และห้ามตากแดด
*แผ่นกรองชนิดนี้ต้องใส่ไว้ในตัวเครื่องตลอดเวลาที่มีการใช้งาน เพื่อป้องกันฝุ่นเข้าสู่ตัวเครื่อง
แผ่นกรองอากาศแบบละเอียด (ใช้แล้วทิ้ง / Disposable)
- แผ่นกรองชนิดนี้เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable) ไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้ ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่เท่านั้น
*ห้ามล้างด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำร้อน และห้ามตากแดด
*แผ่นกรองชนิดนี้ต้องใช้ร่วมกับแผ่นกรองแบบหยาบสีฟ้า อาจใส่หรือไม่ก็ได้ แต่แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก และเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย
สรุป
เครื่อง CPAP คือ เครื่องที่จะช่วยท่านในการรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ที่แพทย์ทั่วโลกยอมรับ ว่าได้ผลดีที่สุด!
อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่อง CPAP ก็เหมือนกับการใส่แว่นสายตา หากคืนไหนท่านไม่ใช้ อาการก็จะกลับมาเหมือนเดิม แต่หากท่านสามารถใช้งานได้ จะมีผลดีต่อสุขภาพของท่านอย่างมากในระยะยาว
ทั้งนี้ท่านจะต้องหมั่นดูแลรักษา และทำความสะอาดตัวเครื่อง CPAP หน้ากาก และอุปกรณ์ต่างๆ ตามตารางเวลาที่ผมได้กล่าวข้างต้น รวมทั้งหมั่นเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ (Filter) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ และยืดอายุการใช้งานเครื่องให้ยาวนานมากขึ้นด้วย
ท้ายนี้ ท่านควรติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดกับแพทย์ของท่าน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไปในอนาคตครับ ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
ขณะใช่เครื่องดันอากาศหายใจเข้าเป็นอากาศปกติ เวลาหายใจออกลมที่ออกมาจะวนกลับเวลาหายใจเข้าอีกรึป่าวครับ
ขออภัยที่ตอบกลับช้านะครับ ขอตอบว่าอากาศที่หายใจออกมาจะไม่วนกลับกลับเวลาหายใจเข้าอีกนะครับ เนื่องจากหน้ากากที่ใช้กับเครื่อง CPAP จะเป็นหน้ากากประเภทที่มีช่องสำหรับระบายอากาศ (Vented mask) ซึ่งมักจะอยู่บริเวณข้อต่อด้านหน้าหรือด้านล่างของที่ครอบจมูก จะเป็นรูเล็กๆ หลายๆ อัน หรือบางรุ่นจะมีลักษณะคล้ายๆ รังผึ้ง ดังนั้นเมื่อเวลาเราหายใจออก ลมที่พ่นมาจากเครื่อง CPAP จะดันเอาอากาศนี้ออกไปทางรูระบายอากาศดังกล่าว ทำให้เราไม่ได้หายใจเอาอากาศเก่ากลับเข้าไปครับ ข้อสังเกตุ: จะมีหน้ากากอีกประเภทที่ไม่มีรูระบายอากาศ (Non-vented mask) จะใช้สำหรับเครื่องช่วยหายใจระดับที่สูงกว่า CPAP โดยจะมีท่อนำอากาศหายใจออกอีกทางหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นหากเราใช้ CPAP ต้องใช้หน้ากากประเภท Vented Mask เท่านั้นครับ
หากใช้สิทธิ์ข้าราชการและแพทย์สั่งให้ใช้จะสามารถเบิกได้ทั้งจำนวนไหมคะ
สิทธิ์ข้าราชการสามารถเบิกค่าเครื่อง cpap ได้ สูงสุด 20,000 บาทครับ หากราคาเครื่องสูงเกินกว่านั้นเราต้องชำระส่วนที่เกินเองครับ