เลือกเครื่อง CPAP แบบ Auto หรือ Manual ดี?

เลือกเครื่อง CPAP แบบ Auto หรือ Manual

เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า หรือเครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย การที่จะเลือกใช้ CPAP จะเลือก แบบตั้งค่าความดันเอง (Manual CPAP) หรือใช้ แบบปรับความดันอัตโนมัติ (Auto CPAP) ดี บทความนี้มีคำตอบครับ

อ่านเพิ่มเติม: เครื่อง CPAP คืออะไร

ทำความเข้าใจเรื่องการเลือกเครื่อง CPAP แต่ละประเภท

การจะเลือก CPAP ทั้ง 2 ชนิด คงไม่ต่างอะไรกับการซื้อรถยนต์ ว่าจะเลือกเกียร์กระปุก (Manual gear) หรือเกียร์อัตโนมัติ (Automatic gear) รถที่เราซื้อ ไม่ว่าจะเป็นรถเกียร์กระปุก หรือรถเกียร์อัตโนมัติ ก็สามารถนำเราไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน

CPAP ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเลือกใช้แบบตั้งค่าความดันเอง หรือใช้แบบปรับความดันอัตโนมัติ ก็สามารถทำให้ทางเดินหายใจของผู้ป่วยกว้างขึ้นขณะหลับ ทำให้ปัญหานอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับของผู้ป่วยดีขึ้นได้เช่นกัน

แต่การใช้รถเกียร์อัตโนมัติ จะทำให้ผู้ขับรถสะดวกสบายกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการปรับเกียร์เหมือนรถเกียร์กระปุก เช่นเดียวกันการใช้ CPAP แบบปรับความดันอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะสะดวกกว่า เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งหรือปรับค่าความดันที่ใช้ในการรักษาอาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

นอกจากนี้ การใช้ Auto CPAP จะรู้สึกสบายกว่า รู้สึกอึดอัดน้อยกว่าเครื่องแรงดันคงที่ เนื่องจากเครื่องแบบ auto จะมีการปรับระดับแรงดันลมให้เหมาะสมกับร่างกายให้อัตโนมัติตลอดทั้งคืน ช่วงไหนที่มีอาการไม่มาก เครื่องก็จะให้แรงดันที่ไม่สูง

แต่ทั้งนี้ เครื่อง Auto CPAP ก็มีข้อเสีย คือมีราคาแพงกว่าเครื่อง Manual CPAP (ดูราคา CPAP แต่ละรุ่น) เช่นเดียวกับรถเกียร์อัตโนมัติซึ่งจะมีราคาแพงกว่ารถเกียร์กระปุก ดังนั้นท่านควรพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆในการ เลือกเครื่อง CPAP ให้ดีก่อนตัดสินใจ

ความแตกต่างระหว่าง CPAP แบบ Auto และ Manual

คลิปวิดีโอด้านล่างนี้ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนครับ

ข้อเสียของเครื่อง CPAP แบบแรงดันคงที่ (Manual CPAP)

1. อาจทำให้ได้รับการรักษา “ต่ำกว่า” ที่ควรจะเป็น (under treatment)

เมื่อเยื่อบุจมูกบวม จากหวัดหรือภูมิแพ้, ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (ไขมันจะมาพอกรอบทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มมากขึ้น) หรือผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น (อวัยวะต่างๆ ในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เพดานอ่อน, ลิ้นไก่, โคนลิ้น, ต่อมทอนซิล จะหย่อนยานลง) จะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง

เมื่อใช้ Manual CPAP ที่ตั้งค่าความดันไว้แล้ว จะทำให้ลมที่วิ่งผ่านทางเดินหายใจส่วนบนลดลง ทำให้การรักษาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (under treatment) อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมามีเสียงกรนดังขึ้น หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ตื่นขึ้นมา รู้สึกไม่สดชื่น, เพลีย, ง่วงเวลากลางวันได้อีก

แต่ถ้าใช้ Auto CPAP เมื่อทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง เครื่องจะอัดลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำให้ผลของการรักษายังดีคงเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของทางเดินหายใจส่วนบน

2. อาจทำให้ได้รับการรักษา “มากกว่า” ที่ควรจะเป็น (over treatment)

เมื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอากาศทางจมูกลดลง หรือผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน สามารถลดน้ำหนักลงได้ ทางเดินหายใจส่วนบนจะกว้างขึ้น เมื่อใช้ Manual CPAP ที่ตั้งค่าความดันไว้แล้ว จะทำให้ลมที่วิ่งผ่านทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าที่ควรจะเป็น (over treatment)

แต่ถ้าใช้ Auto CPAP เมื่อทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น เครื่องจะอัดลมเข้าไปในทางเดินหายใจลดลงโดยอัตโนมัติ ทำให้ลมที่วิ่งผ่านจมูกหรือปากของผู้ป่วยลดลง ทำให้ผู้ป่วยร่วมมือในการใช้เครื่อง CPAP มากขึ้น

3. รู้สึกอึดอัดมากกว่า

เครื่อง Manual CPAP ใช้งานแล้วรู้สึกอึดอัดมากกว่า โดยเฉพาะถ้าต้องใช้งานที่ระดับแรงดันสูงๆ

4. ต้องคอยปรับตั้งค่าแรงดันให้เหมาะสมอยู่เรื่อยๆ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบน แคบลง หรือกว้างขึ้น ผู้ที่ใช้ Auto CPAP นั้น เครื่องจะปรับแรงดันลมให้โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องมาตั้งค่าความดันใหม่อยู่เรื่อยๆ

ส่วนผู้ที่ใช้ Manual CPAP นั้น ในกรณีที่ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมามีเสียงกรนดังขึ้น หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ตื่นขึ้นมา รู้สึกไม่สดชื่น, เพลีย, ง่วงเวลากลางวันได้อีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมาปรับค่าความดันที่เหมาะสมอยู่เสมอ

การหาแรงดันรักษาที่เหมาะสม กรณีใช้เครื่อง Manual CPAP

  1. เข้ารับการตรวจการนอนหลับ (sleep test) ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง (นอนที่โรงพยาบาล 1 คืน) เพื่อหาความดันที่เหมาะสมสำหรับทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบขณะนั้น ๆ ใหม่ (CPAP titration)
  2. ยืมเครื่อง Auto CPAP จากบริษัทที่ขาย มาใช้สัก 1-2 สัปดาห์ เพื่อหาความดันที่เหมาะสม (โดยใช้ค่าความดันที่ 90 หรือ 95 เปอร์เซ็นต์ไทล์: 90th or 95th percentile pressure) สำหรับทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบขณะนั้นๆ แล้วนำค่าความดันนั้น มาตั้งค่าความดันใหม่ให้กับเครื่อง Manual CPAP

ข้อดีของเครื่อง CPAP แบบอัตโนมัติ (Auto CPAP)

1. ได้รับแรงดันที่เหมาะสมในการรักษาตลอดทั้งคืน

ขณะที่ผู้ป่วยนอนตะแคง ทางเดินหายใจส่วนบนจะกว้างกว่าการนอนหงาย ถ้าผู้ป่วยใช้ Auto CPAP เครื่องจะลดความดันที่เป่าเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบนลงเองโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ป่วยร่วมมือในการใช้เครื่อง CPAP มากขึ้น

แต่ขณะที่ผู้ป่วยนอนหงาย เพดานอ่อนที่ยาว และโคนลิ้นที่โต จะตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากกว่าเวลานอนตะแคง เครื่อง Auto CPAP ก็จะเพิ่มความดันที่เป่าเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบนให้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำให้เป็นการรักษาที่เหมาะสมมากกว่าในทางสรีรวิทยา (more physiologically)

ในทางกลับกัน ถ้าผู้ป่วยใช้ Manual CPAP ไม่ว่าผู้ป่วยจะนอนตะแคง หรือนอนหงาย เครื่องจะเป่าลมเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบนด้วยความดันคงที่ หรือเท่าเดิม ทำให้ลมที่วิ่งผ่านทางเดินหายใจส่วนบนในขณะนอนตะแคงจะมากกว่าที่ควรจะเป็น (over treatment)

2. ไม่ต้องคอยปรับตั้งแรงดันด้วยตัวเอง

ในบางช่วงเวลา เราอาจมีภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำหนักตัวมากขึ้น หรือวันนี้ออกกำลังหรือทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย หรือดื่มสุรา เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรามีอาการกรนและหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรงขึ้น

หากเราใช้เครื่อง Auto CPAP เครื่องก็จะปรับค่าแรงดันให้เราเองโดยอัตโนมัติ ส่วนเครื่อง Manual CPAP ท่านต้องปรับค่าแรงดันด้วยตัวเอง

3. รู้สึกสบายกว่า

ผู้ใช้งานเครื่อง Auto CPAP จะรู้สึกสบายกว่า อึดอัดน้อยกว่า เนื่องจากแรงดันลมไม่ได้สูงตลอดทั้งคืน บางช่วงเวลาแรงดันอาจต่ำลงได้ ถ้าอาการไม่รุนแรง เช่น ช่วงเริ่มต้นนอน หรือตอนที่หลับไม่ลึก

4. ใช้งานง่าย

เครื่อง Auto CPAP ใช้งานง่าย เพียงแค่กดปุ่มเปิดเครื่อง และในระยะยาวก็ไม่ต้องคอยมาปรับตั้งแรงดันเรื่อยๆ

สรุป

เมื่อท่านทราบข้อดี และข้อเสียของเครื่อง CPAP ทั้ง 2 ชนิดแล้ว คงไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ ในการตัดสินใจเลือก ก็คงคล้ายๆ กับการที่ท่านเลือกซื้อรถยนต์เกียร์กระปุก หรือเกียร์อัตโนมัตินั่นเองครับ


ที่มา: บทความ โดย รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


6 ความคิดเห็น

    1. ถ้าเป็นเครื่องช่วยหายใจชนิดที่ให้แรงดันอากาศ เช่น เครื่อง CPAP หรือ BiPAP ต้องใช้หน้ากากแบบ mask เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นชนิดที่ครอบเฉพาะจมูก (nasal mask), ครอบจมูกและปาก (full face mask) หรือแบบสอดรูจมูก (pillow mask) ส่วนสาย cannula มักใช้กับเครื่องผลิตออกซิเจน หรือ high flow ครับ

  1. คุณหมอแนะนำให้สามีใช้เครื่อง cpap ค่ะ และได้แนะนำให้มาติดต่อที่ nk เนื่องจากคุณหมอที่รักษาท่านรู้จักกับ อ.วรวัฒน์เป็นอย่างดี พรุ่งนี้จะโทรเข้าไปขอคำปรึกษานะคะ และสัปดาห์หน้าจะพาสามีเข้าไปที่บริษัทนะคะ ขอบคุณค่ะ

  2. ถ้ามีกำลังเงินที่จะซื้อเครื่องควรซื้อแบบAuto หรือแบบธรรมาดาดีครับ

    1. ถ้าไม่ติดเรื่องราคา ผมแนะนำให้ซื้อแบบ Auto ไปเลยดีกว่าครับ

      เครื่อง Auto CPAP
      ข้อดี:
      – ปรับแรงดันที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ
      – อึดอัดน้อยกว่า เนื่องจากแรงดันไม่ได้สูงตลอดทั้งคืน
      – ดูแลง่าย ไม่ต้องคอยมาปรับตั้งแรงดันเรื่อยๆ
      ข้อเสีย:
      – ราคาแพง

      เครื่อง Manual CPAP
      ข้อดี:
      – ราคาถูกกว่าแบบ Auto
      ข้อเสีย:
      – อึดอัดมากกว่า โดยเฉพาะถ้าต้องการใช้งานที่แรงดันสูงๆ
      – ต้องคอยมาปรับตั้งแรงดันเรื่อยๆ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *