เครื่องทำความชื้น (Humidifier) ในเครื่อง CPAP จำเป็นหรือไม่?
เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งมีความรุนแรง ตั้งแต่ระดับน้อย ถึงรุนแรงมาก
อากาศที่ออกมาจากเครื่อง CPAP จะมีแรงดันและอัตราการไหลที่สูงกว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปในภาวะปกติที่ไม่ได้ใช้งานเครื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคอแห้งหรือแสบช่องจมูกในบางท่านได้
เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น หนึ่งในอุปกรณ์เสริมที่มักนิยมใช้ร่วมกับเครื่อง CPAP คือ เครื่องทำความชื้น (Heated humidifier) เพื่อเพิ่มความชื้น (humidity) ในอากาศที่ผ่านออกมาจากเครื่อง CPAP
ปัจจัยในการพิจารณาว่าควรใช้เครื่องทำความชื้นด้วยหรือไม่
การพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องทำความชื้นหรือไม่นั้น สามารถพิจารณาได้จากปัจจัยต่างๆดังนี้
1. สภาพความชื้นในห้องนอนหรือห้องที่ใช้งานเครื่อง CPAP
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนและชื้น ถ้าผู้ป่วยใช้เครื่อง CPAP ในห้องธรรมดา (ที่ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมเป่าจ่อ) ก็คงไม่มีปัญหาอะไรกับเยื่อบุจมูกของผู้ใช้เครื่อง ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องทำความชื้น
แต่หากใช้เครื่อง CPAP ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือผู้ป่วยเปิดพัดลมเป่าจ่อนั้น หากไม่มีเครื่องทำความชื้น ก็อาจมีปัญหาที่เรียกว่า การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูกที่เกิดจากการใช้เครื่อง CPAP (CPAP- induced rhinitis) ตามมาได้ ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้เครื่องทำความชื้นร่วมด้วย
2. ระดับแรงดันลมที่ใช้งาน (Therapy pressure)
หากท่านมีอาการกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับระดับปานกลางหรือรุนแรง แรงดันลมที่ใช้มักจะมีค่าสูง เช่น มากกว่า 10 cmH2O ขึ้นไป
แรงดันลมที่สูงนี้มักทำให้ช่องจมูกและช่องคอแห้งได้ ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้เครื่องทำความชื้นร่วมด้วย
3. สภาพร่างกาย
บางท่านอาจมีอาการภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกเกิดความระคายเคืองง่าย กรณีอย่างนี้ถึงแม้ว่าแรงดันลมที่ใช้จะไม่สูง หรือไม่ได้นอนในห้องแอร์ก็ตาม ก็แนะนำให้ใช้เครื่องทำความชื้นร่วมด้วย
4. ตื่นมาคอแห้งหรือไม่
ข้อนี้เป็นการสังเกตุง่ายๆ โดยท่านอาจไม่ต้องพิจารณาข้ออื่นๆเลย คือหากท่านใช้ CPAP แล้วตื่นขึ้นมามีอาการคอแห้ง ก็แนะนำให้ใช้เครื่องทำความชื้นร่วมด้วย
5. ใช้งาน CPAP ในต่างประเทศ
หากท่านนำเครื่อง CPAP ไปใช้งานในประเทศที่หนาวเย็น หรือมีความชื้นต่ำ ก็แนะนำให้ใช้เครื่องทำความชื้นร่วมด้วย
ผลเสียจากการใช้งาน CPAP โดยไม่มีเครื่องทำความชื้น
หากท่านใช้ CPAP โดยไม่มีเครื่องทำความชื้น ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ อากาศที่แห้งและเย็นจากเครื่องปรับอากาศ จะผ่านเข้าไปในโพรงจมูกตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยใช้เครื่อง CPAP ในห้องนอน
ซึ่งมีผลทำให้เยื่อบุจมูกมีการอักเสบเรื้อรัง และมีความไวผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคัดจมูก, คัน, จาม, น้ำมูกไหล หรือมีเสมหะลงคอได้ง่าย โดยเฉพาะตอนตื่นนอนตอนเช้า และเกิดการบวมของเยื่อบุจมูก ซึ่งเมื่อเยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ จะมีผลกับการใช้งานเครื่อง CPAP ของท่านดังนี้
- ถ้าผู้ป่วยใช้ CPAP แบบปรับความดันอัตโนมัติ (Auto CPAP) เครื่องจะเพิ่มแรงดันในการอัดอากาศเข้าไปในโพรงจมูกมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดมากขึ้น และอาจมีลมรั่วออกจากหน้ากากได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องรัดหน้ากากที่ครอบจมูกหรือปากให้แน่นขึ้น จนทำให้มีรอยหน้ากากบนหน้าผู้ป่วยเมื่อตื่นมาตอนเช้าได้
- ถ้าผู้ป่วยใช้ CPAP แบบตั้งค่าความดันเอง (Manual CPAP) ความดันในการอัดอากาศเข้าไปในโพรงจมูกจะคงที่ ซึ่งหากช่องจมูกมีอาการบวม จะทำให้ความดันที่เหลือที่จะไปถ่างทางเดินหายใจส่วนอื่นให้กว้างขึ้น มีค่าลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับลดลง ผู้ป่วยอาจจะกลับมามีเสียงดัง หรือกลับมามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากการใช้เครื่อง CPAP นี้ บางคนอาจเกิดช้า บางคนอาจเกิดเร็ว ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง CPAP ควรตัดสินใจว่า จะปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยกลับมารักษา หรือจะป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น
ดู ราคาเครื่อง CPAP ทุกรุ่นที่นี่
ควรใช้น้ำแบบไหนในการเติมเครื่องทำความชื้น
ที่ทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้คือน้ำกลั่นทางการแพทย์ และต้องเป็นประเภทที่ระบุบนขวดว่า Sterile water for inhalation แต่ในความเป็นจริงน้ำประเภทนี้จะหาซื้อค่อนข้างยากและมีราคาสูง จึงแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ BiPAP ขึ้นไปหรือผู้ป่วยเจาะคอ
สำหรับผู้ใช้งานเครื่อง CPAP ทั่วไป แนะนำให้ใช้น้ำดังต่อไปนี้ในการเติมเครื่องทำความชื้นครับ
- น้ำดื่มบรรจุขวด
- น้ำต้มสุก
- น้ำกรอง
ห้ามใช้น้ำประปา เพราะเป็นน้ำที่มีคลอรีน และจะทำให้เกิดตะกอนในกระบอกน้ำได้
ข้อแนะนำในการใช้งานเครื่องทำความชื้น
- ล้างทำความสะอาดกระบอกน้ำทุกๆ เช้าหลังจากเลิกใช้งานเครื่อง CPAP/BiPAP แล้วผึ่งลมให้แห้ง ห้ามนำไปผึ่งแดด
- เปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้งก่อนใช้งาน
- เติมน้ำให้อยู่ระดับกึ่งกลาง ห้ามเกินขีด Max เพราะอาจทำให้น้ำไหลเข้าตัวเครื่องได้
- เทน้ำออกทุกครั้ง ก่อนการเคลื่อนย้ายเครื่อง เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าตัวเครื่อง
สรุป
การพิจารณาว่าควรใช้เครื่องทำความชื้นร่วมกับ CPAP ด้วยหรือไม่นั้น ให้ดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น นอนในห้องที่มีอากาศแห้ง เช่น ห้องแอร์หรือไม่ หรือระดับแรงดันลมที่ใช้มีค่าสูงหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้หรือไม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากท่านสามารถหาเครื่องทำความชื้นมาใช้งานได้ ก็ขอแนะนำให้ใช้ครับ เพราะแรงลมจากเครื่อง CPAP แม้ที่แรงดันต่ำสุดก็ยังมีอัตราการไหล (Flow) ที่สูงกว่าการหายใจปกติของเราอยู่ดี ซึ่งการที่มีลมผ่านด้วยความเร็วสูงกว่าปกติเป็นเวลานานๆ ในระยะยาวก็อาจทำให้ช่องจมูกอักเสบได้
นอกจากนี้การหายใจเอาอากาศที่มีความอุ่นและความชื้นพอเหมาะเข้าไป จะทำให้ท่านนอนหลับได้สบายกว่าอีกด้วย หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์สำหรับท่านที่กำลังตัดสินใจว่า ควรจะใช้เครื่องทำความชื้นร่วมกับ CPAP ดีหรือไม่นะครับ
อยากทราบว่าที่หน้าจอMask Sealแสดงหน้ายิ้มสีเขียว แสดงว่าไม่มีการรั่วจากหน้ากาก แต่ด้านล่างที่หน้าจอแสดงผลมีผล Leak 36L/min ซึ่งแสดงว่ามีค่าลมรั่วเกินมาตรฐาน อยากทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้างครับ
สัญลักษณ์หน้ายิ้มสีเขียวของ Mask Seal จะเป็นผลการใช้งานของ “คืนล่าสุด” เท่านั้น ส่วนค่า Leak ที่ด้านล่างหน้าจอจะเป็น “ค่าเฉลี่ยตามช่วงเวลา” ที่เรากำหนดไว้ในช่อง Period เช่น 1 Week, 1 Month เป็นต้น ดังนั้นการใช้งานคืนล่าสุดอาจเป็นหน้ายิ้มแปลว่าการรั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ผลเฉลี่ย 1 เดือนอาจมีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ครับ
เข้าใจแล้วครับ ตอบกลับเร็วมาก ขอบคุณมากครับ
อยากทราบความหมายของสัญลักษณ์บนจอจองเครื่องค่ะ เช่นหน้ายิ้ม หน้าแดง ขอบคุณค่ะ และอีกอย่างปริมาณน้ำที่ลดลงมากน้อย ในแต่ละคืนนี่บ่งบอกถึงอะไรคะ ลดลงมากดีหรือไม่ดีคะ ขอบคุณนะคะ
ต้องขออภัยที่ตอบกลับช้านะครับ
หลังจากที่เราปิดเครื่อง CPAP ResMed ในตระกูล AirSense 10 หน้าจอจะแสดงรายงานสรุปการใช้งานออกมา 3 ค่า ได้แก่ Usage hours, Mask Seal และ Humdifier โดย Usage hours คือ จำนวนชั่วโมงที่ใช้งานในคืนที่ผ่านมา Mask Seal คือการใส่หน้ากากว่ากระชับดีหรือไม่ และ Humidifer คือการใช้งานเครื่องทำความชื้น โดย 2 ค่าหลังคือ Mask Seal และ Humidifier จะแสดงเป็นสัญลักษณ์หน้ายิ้มหรือหน้าแดง โดยแปลได้ดังนี้
Mask Seal หน้ายิ้ม = ใส่หน้ากากได้กระชับดี ไม่มีการั่วเกินค่าที่กำหนด
Mask Seal หน้าแดง = ใส่หน้ากากไม่ดี มีการั่วของอากาศเกินค่าที่กำหนด ต้องปรับการใส่หน้ากากใหม่
Humidifier หน้ายิ้ม = เครื่องทำความชื้นทำงานเป็นปกติ
Humidifier หน้าแดง = เครื่องทำความชื้นทำงานผิดปกติ ให้ติดต่อบริษัทที่ท่านซื้อเครื่องมา
สวัสดีคัฟ บริษัท์น่าจะให้ข้อมูลสำหรับต้องใช้น้ำกลั่นแบบไหนกับเครื่องตัวนี้ เพื่อความสะดวกในการตัดสินใจซื้อต่อลูกค้า ยังงัยก็พิมพ์บอกให้ได้รับรู้แล้วสะดวกขึ้นต่อการใช้บ้างนะคัฟ
อังกูร วัฒนนาวิน
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะครับ ผมได้เพิ่มหัวข้อใหม่ 2 หัวข้อ ได้แก่ “ควรใช้น้ำแบบไหนในการเติมเครื่องทำความชื้น” และ “ข้อแนะนำในการใช้งานเครื่องทำความชื้น” ในบทความให้แล้วครับ เนื้อหามีดังนี้ครับ
ควรใช้น้ำแบบไหนในการเติมเครื่องทำความชื้น
ที่ทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้คือน้ำกลั่นทางการแพทย์ และต้องเป็นประเภทที่ระบุบนขวดว่า Sterile water for inhalation แต่ในความเป็นจริงน้ำประเภทนี้จะหาซื้อค่อนข้างยากและมีราคาสูง จึงแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ BiPAP ขึ้นไปหรือผู้ป่วยเจาะคอ
สำหรับผู้ใช้งานเครื่อง CPAP ทั่วไป แนะนำให้ใช้น้ำดังต่อไปนี้ในการเติมเครื่องทำความชื้นครับ
*ห้ามใช้น้ำประปา เพราะเป็นน้ำที่มีคลอรีน และจะทำให้เกิดตะกอนในกระบอกน้ำได้
ข้อแนะนำในการใช้งานเครื่องทำความชื้น
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ