หน้ากาก CPAP มีกี่ประเภท?

หน้ากาก CPAP มีกี่ประเภท

หน้ากากสำหรับเครื่องช่วยหายใจ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประกอบการรักษา ซึ่งในบทความนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงรายละเอียดหน้ากากสำหรับเครื่องช่วยหายใจแต่ละประเภท ว่ามีข้อแตกต่างอย่างไรบ้าง

รู้จักหน้ากากสำหรับเครื่อง CPAP

หน้ากากสำหรับเครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยจะสวมใส่หน้ากากไว้ขณะใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้แรงดันลมไหลผ่านจมูกหรือปาก (แล้วแต่ชนิดของหน้ากาก) เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้หน้ากากสำหรับเครื่องช่วยหายใจมีหลายประเภทให้เลือกใช้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมของผู้ใช้งาน

หน้ากาก CPAP แบ่งเป็นกี่ประเภท?

หน้ากากสำหรับเครื่องช่วยหายใจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

1. หน้ากากแบบครอบจมูก (Nasal mask)

ทำจากซิลิโคนหรือเจล เป็นหน้ากากที่ได้รับความนิยมในการใช้งานมากที่สุด เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งาน

2. หน้ากากแบบสอดจมูก (Nasal pillow mask)

เป็นหน้ากากที่ใส่สบายที่สุดในบรรดาหน้ากากทั้ง 3 แบบ ทำจากซิลิโคน โดยการสวมใส่หน้ากากก็จะทำเพียงสอดซิลิโคนเข้าไปที่บริเวณส่วนปลายของรูจมูกเท่านั้น ไม่ได้ครอบส่วนของใบหน้าด้วย ทำให้เกิดลมรั่วได้ง่ายกว่าแบบอื่น โดยเฉพาะการใช้ในกรณีที่แรงดันสูงๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้เครื่อง CPAP มาสักระยะหนึ่งแล้ว และมีความชำนาญในการใช้หน้ากากพอสมควร หรือสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้หน้ากากแบบครอบจมูกได้ รวมถึงผู้ที่เป็นเป็นไซนัส ภูมิแพ้และคัดจมูกง่าย มีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบ เป็นต้น

3. หน้ากากแบบครอบจมูกและปาก (Full Face mask)

ใช้สำหรับผู้ป่วยที่นอนอ้าปาก วัสดุทำจากซิลิโคนหรือเจล โดยหน้ากากจะครอบทั้งจมูกและปากของผู้ใช้ ทำให้ไม่เกิดการรั่วของแรงดันลมออกทางปาก แต่จะทำให้คอแห้งเนื่องจากลมจะผ่านปากของเราตลอดเวลา และในบางครั้งอาจทำให้เกิดมีลมเข้าไปในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้

อ่านเพิ่มเติม: 3 วิธีการเลือกหน้ากาก CPAP ให้เหมาะกับตัวเอง

วิธีการสวมใส่หน้ากาก

การสวมใส่หน้ากากที่ดีและถูกต้องนั้นคือไม่จำเป็นต้องรัดแน่นจนเกินไปหรือหลวมมากไป ควรสวมใส่ให้รู้สึกว่าหน้ากากกระชับพออยู่ เมื่อใส่หน้ากากเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยทดสอบการรั่วของหน้ากากเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  1. ต่อท่อส่งลมแล้วเปิดเครื่องช่วยหายใจ
  2. ตรวจเช็กบริเวณหัวตาว่ามีลมรั่วออกมาบริเวณนั้นหรือไม่ ถ้ามีให้กระชับสายรัดศีรษะให้พอดีกับรอบศีรษะและใบหน้า
  3. สำหรับหน้ากากครอบที่จมูกให้ทำการตรวจเช็กลมรั่วบริเวณปีกจมูก ข้างแก้ม และใต้คาง ถ้ามีให้กระชับสายรัดศรีษะทั้ง 2 ข้างให้เท่ากัน เพื่อความสมดุลขณะใช้งาน
  4. ทดลองนอนในท่าทางต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มหลับทุกครั้งที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ

นอกจากจะทราบข้อมูลของหน้ากากสำหรับเครื่องช่วยหายใจแต่ละประเภทและรู้จักการสวมใส่หน้ากากอย่างถูกต้องแล้ว ในบางกรณีแพทย์อาจให้ผู้ป่วยได้รับการเจาะคอ (Tracheostomy) แทนการใส่หน้ากาก รวมถึงต้องมีการดูแลผู้ป่วยเจาะคอเป็นพิเศษ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยจะกล่าวถึงในบทความถัดไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *